ข่าว

ไทยแอร์เอเชีย ชี้ต้นทุนน้ำมันพุ่ง 30% ฉุดกำไรสุทธิครึ่งปีลด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยแอร์เอเชีย ชี้ต้นทุนน้ำมันพุ่ง 30% ฉุดกำไรสุทธิครึ่งปีลด

 

บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้ถือหุ้นใหญ่สายการบินไทยแอร์เอเชีย (TAA) เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2560 มีรายได้รวม 8,336 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 171 ล้านบาท ลดลง 60% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 422.5 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรก มีกำไรสุทธิ 741 ล้านบาท ลดลง 48%

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่าสาเหตุหลักที่กำไรลดลง เป็นเพราะผลประกอบการถูกนำไปเปรียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งเวลานั้นราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงไปต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้มีความได้เปรียบในเชิงต้นทุนที่ต่ำกว่าปีนี้มาก โดยหากคิดเป็นตัวเงินแล้วทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 30% ขณะที่ราคาน้ำมันในขณะนี้ปรับขึ้นมาราว 15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ราคาน้ำมันสำหรับเครื่องบินพาณิชย์) จากปีที่แล้ว 

ทั้งนี้ หากพิจารณาการขยายธุรกิจแล้ว ยังมั่นใจว่าเป็นไปได้ดี เนื่องจากในไตรมาส 2 อัตราบรรทุกเฉลี่ยผู้โดยสารยังเพิ่มขึ้นได้ 3 จุดเป็น 86% และมีผู้โดยสารกว่า 4.69 ล้านคน เติบโตราว 13% ถือเป็นการเติบโตมากกว่าอัตราที่นั่งที่รองรับได้เพิ่มขึ้น 9% ด้วย

สำหรับผลดำเนินงานครึ่งปีแรก AAV มีรายได้รวม 17,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 5% เทียบกับครึ่งปีแรกของ 2559 ส่วนไทยแอร์เอเชีย มีอัตราบรรทุกเฉลี่ยราว 88% เพิ่มขึ้น 3 จุด และมีผู้โดยสารสะสม 9.55 ล้านคน หรือเติบโตราว 12%

ด้านผลประกอบการของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ไตรมาส 2 มีรายได้รวมอยู่ที่ 8,336 ล้านบาท เติบโต 7% และกำไรสุทธิ 310 ล้านบาท ลดลงไป 60% ส่วนครึ่งปีแรกมีรายได้รวม 17,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ส่วนกำไรสุทธิ 1,346 ล้านบาท ลดลง 48% 

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่านอกจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันแล้ว ยอมรับว่าการแข่งขันที่สูงต่อเนื่องของสายการบินโลว์คอสท์ยังมีผลต่อการดำเนินงานเช่นเดิม โดยไทยแอร์เอเชียปรับแผนในการให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) ที่มีสัดส่วนรายได้ราว 5% ลดจำนวนเที่ยวบินชาร์เตอร์ฯไปยังจีน เพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์ของกรุ๊ปทัวร์ที่อ่อนตัวและเพิ่งทยอยฟื้นหลังจากการจัดระเบียบทัวร์เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยในไตรมาส 2 ลดลงมาอยู่ที่ 1,476 บาท จากที่เคยอยู่ที่ 1,550 บาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน

“หากนำรายได้และกำไรไปเทียบกับปีก่อน ย่อมจะมีอัตราที่ลดลงแน่นอน เพราะสถานการณ์ของปีก่อน มีปัจจัยส่งเสริมจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงกว่าปกติ โดยทั่วไปต้นทุนน้ำมันคิดเป็น 30% ของต้นทุนทั้งหมด และเชื่อว่าถึงกำไรสุทธิจะลด แต่ไทยแอร์เอเชียก็น่าจะเป็น 1 ใน 2 สายในประเทศไทยที่ยังคงทำกำไรได้ ขณะที่สายการบินอื่นๆ อาจเผชิญภาวะขาดทุนกันถ้วนหน้า ขณะที่ราคาตั๋วโดยสารก็ปรับลดลงราว 3% ซึ่งทำให้มีผลต่อรายได้เช่นกัน”

ขณะเดียวกันมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายพนักงาน แต่ปัจจัยบวกที่เข้ามาเสริมในช่วงนี้ก็คือ การรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 

สำหรับไตรมาส 2 ไทยแอร์เอเชีย ยังคงรับมอบเครื่องบิน 1 ลำ ส่งผลให้ครึ่งปีนี้มีเครื่องบิน 54 ลำ และได้เปิดเส้นทางบินใหม่ต่างประเทศ 1 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ดานัง และเส้นทางข้ามภาค เชียงใหม่-อุบลราชธานี พร้อมกับเพิ่มความถี่เส้นทางอื่นๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ สู่ขอนแก่น เป็น 5 เที่ยวบินต่อวัน สู่ร้อยเอ็ด เป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน สู่ ปีนัง เป็นเป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน, พนมเปญ เป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน, จากเชียงใหม่ - สุราษฎร์ธานี เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน} จากหาดใหญ่ - กัวลาลัมเปอร์เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน และจากพัทยา (อู่ตะเภา) - อุดรธานี เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน

ช่วงครึ่งปีหลังได้เปิดเส้นทางอินเดียเพิ่มเติม 2 เส้นทาง ได้แก่ ชัยปุระ และ ติรุจิรัปปัลลิ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตโดดเด่นรองรับได้ทั้งการค้าและการท่องเที่ยว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์ ไปแล้ว ทั้งนี้ วางแผนจะรับมอบเครื่องบินอีก 3 ลำจนกว่าจะครบ 57 ลำตามแผนที่วางไว้ และยังคงตั้งเป้าบรรทุกผู้โดยสาร 19.5 ล้านคน อัตราบรรทุกเฉลี่ย 84% เช่นเดิม 

นายธรรศพลฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับไตรมาส 4 อาจจะไม่มีเส้นทางต่างประเทศเปิดใหม่ แต่ทั้งนี้จะพิจารณาอีกครั้งหากมีโอกาสที่เหมาะสม กลยุทธ์หลักจะเน้นเพิ่มความถี่เส้นทางที่มีศักยภาพแทน 

นอกจากนี้หากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ขอความร่วมมือในการดำเนินนโยบายกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สามารถช่วยเหลือด้านการประสานขอสิทธิประโยชน์ ในการเปิดเส้นทางบินในประเทศลงเมืองรองที่ยังไม่มีเที่ยวบินรองรับ รวมถึงสนับสนุนด้านการทำตลาดประชาสัมพันธ์ ยืนยันว่าไทยแอร์เอเชีย ก็มีความพร้อมร่วมมือบินไปทุกที่

“ได้หารือร่วมกับ ททท.แล้ว และพร้อมเปิดเส้นทางใหม่ในประเทศในโซน 2 และ 3 ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวหลัก แต่เงื่อนไขอย่างเดียวคือ สายการบินต้องไม่รับความเสี่ยงเองคนเดียว แต่ควรจะมีกำลังเสริมช่วยด้านการทำตลาดและประชาสัมพันธ์ให้มีผู้โดยสารเข้ามาต่อเนื่อง”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ