ข่าว

รัฐหนุนต่อ“เอสเอ็มอี”ลดเสี่ยง“บาทแข็ง” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐหนุนต่อ“เอสเอ็มอี”ลดเสี่ยง“บาทแข็ง” 

 หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) โดยการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกัน เอสเอ็มอี 8.1 หมื่นล้านบาท ปลอดค่าธรรมเนียม 4 ปี เพิ่มชดเชยสูงสุด 30% โดยผนึกกับสถาบันการเงินเร่งปล่อยสินเชื่อ ล่าสุดวันที่10ส.ค.60 ยังเตรียมหามาตรการช่วยเอสเอ็มอีบริหารความเสี่ยงค่าเงิน 

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงรายละเอียดว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน โดยการค้ำประกันสินเชื่อของบสย. มีวงเงินค้ำประกัน 8.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเริ่มให้ความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2560 เป็นต้นไป

โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ใน 4 ปีแรก ด้วยอัตราปีแรก 1.75% ปีที่ 2 1.25% ปีที่ 3 0.75%และปีที่ 4 0.25% และให้สถาบันการเงินร่วมชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 2 ถึง 4 ในส่วนที่เหลือ เพื่อให้เอสเอ็มอี ไม่มีภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมใน 4 ปีแรก พร้อมทั้งเพิ่มความรับผิดชอบการจ่ายค่าประกันชดเชยจากเดิมที่สูงสุดจากเดิมไม่เกิน 23.75% เป็นสูงสุดไม่เกิน 30% ของภาระค้ำประกันเฉลี่ย ณ วันสิ้นอายุการค้ำประกัน และอนุมัติงบประมาณชดเชยเพิ่มเติมไม่เกิน 8,302.50 ล้านบาท 

โดยคาดว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอี ได้รับสินเชื่อเพิ่มประมาณ 2.7 หมื่นราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในสถาบันการเงินประมาณ 1.36 แสนล้านบาท หรือ 1.68 เท่า เกิดการจ้างงานเพิ่มประมาณ 1.08 แสนคน หรือ 4 คน/ราย พร้อมทั้งสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีก 3.71 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในวงเงินสินเชื่อ 8.1 หมื่นล้านบาท ได้กระจายให้ธนาคารต่างๆจัดสรรเงินกู้ โดยธนาคารหลัก ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารออมสิน จะปล่อยสินเชื่อรายละ 1.2 หมื่นล้านบาท ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) 7.5 พันล้านบาท ที่เหลือจะกระจายไปให้กับธนาคารต่างๆ ซึ่งหากธนาคารใดมีผู้ขอรับสินเชื่อเกินกรอบวงเงินที่กำหนดก็สามารถให้เพิ่มขึ้นได้ คาดว่าจะปล่อยกู้วงเงินทั้งหมด 8.1 หมื่นล้านบาทได้ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ ยังได้ตั้งสินเชื่อเอสเอ็มอี ด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมทั้งยกระดับผู้ประกอบการในชุมชน ในการปรับปรุงการดำเนินงานและเสริมสภาพคล่องในการต่อยอดกิจการ ด้วยการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงินสินเชื่อ 7.5 พันล้านบาท โดยบุคคลธรรมดาจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท นิติบุคคลวงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ในระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี สำหรับวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทแรก ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และสามารถใช้ บสย.ช่วยค้ำประกันได้ โดยรัฐบาล และเอสเอ็มอีแบงก์ จะเข้ามารับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประก้นสินเชื่อ 4 ปี ซึ่งการพิจารณาสินเชื่อจะครอบคลุมการให้สินเชื่อทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งระบบ

นายอุตตม กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนในการออกมาตรการและวงเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องส่งออกสินค้าเข้าถึงบริการลดความเสี่ยงด้านค่าเงิน ที่คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าจะเป็นการเข้าไปอุดหนุนค่าธรรมเนียมในการประกันความเสี่ยงค่าเงินกับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้เอาเอสเอ็มอีมีความรู้ และตระหนักในการบริหารความเสี่ยงเรื่องค่าเงินโดยการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่

ส่วนความคืบหน้ามาตรการทางการเงินภายใต้กองทุนประชารัฐ 3.8 หมื่นล้านบาท ที่รวมแล้วขณะนี้ มีผู้ประกอบการให้ความสนใจในการขออนุมัติวงเงินกว่า 18,777 ราย ได้รับการอนุมัติแล้วทั้งสิ้นกว่า 3,413 ราย โดยคาดว่าจะอนุมัติสินเชื่อทั้งหมดได้ภายในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งหากรวมกับวงเงินสินเชื่อของ บสย. 8.1 หมื่นล้านบาท กับวงเงินสินเชื่อ 3.8 หมื่นล้านบาท จะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 5-6 แสนล้านบาทภายในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ