ข่าว

“เอ.เอส.-ซิโนไทย” คว้างานโยธารถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เอ.เอส.-ซิโนไทย” คว้างานโยธารถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหิน

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดให้เอกชนเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางนครปฐม-หัวหินจำนวน2สัญญา ระยะทางรวม196กิโลเมตร มูลค่ารวม16,066ล้านบาท วานนี้ (10 ส.ค.)

สำหรับสัญญาที่1ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กิโลเมตร มีเอกชนร่วมเสนอราคา 11 ราย และเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 8,198 ล้านบาท จากราคากลาง 8,390 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลางประมาณ 2.28%

สัญญาที่2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กิโลเมตร มีเอกชนร่วมเสนอราคา 11 ราย และมีการเสนอราคาต่ำสุดที่ 7,520 ล้านบาท จากราคากลาง7,676ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลางประมาณ 2.03%

นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน เปิดเผยว่า การประมูลงานโยธารถไฟทางคู่ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ทั้ง 2 สัญญาเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยผู้เข้าประมูลมีการเสนอราคาครบทุกราย 

สำหรับกรณีที่ราคาสุดท้ายของการประมูลรอบนี้ต่ำกว่าราคากลางเพียง 2% แตกต่างจากการประมูลเส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งต่ำกว่าราคากลางถึง 20% นายทนงศักดิ์กล่าวว่า ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับข้อเสนอของภาคเอกชน รวมถึงความยากง่ายของแต่ละสัญญา

อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท. คงไม่สามารถเจรจาต่อรองราคากับเอกชนได้อีก เพราะเป็นการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะมีการพิจารณารายละเอียดและความถูกต้องของรายการก่อสร้างทั้งหมด โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอให้นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่า ร.ฟ.ท. เห็นชอบรายชื่อผู้เสนอราคาต่ำสุด จากนั้นจะตรวจสอบความถูกต้องของรายการงานโยธาต่างๆ และคาดว่าจะเสนอรายชื่อให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เห็นชอบได้ช่วงปลายเดือน ส.ค. หรือต้น ก.ย. และลงนามสัญญาภายในเดือน ก.ย. นี้

ขณะเดียวกัน เตรียมเสนอผลการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตรให้บอร์ดเห็นชอบภายในวันนี้ (11 ส.ค.) โดยตอนนี้ยังไม่สามารถระบุวงเงินสุดท้ายได้ เพราะ ร.ฟ.ท. ต้องตรวจสอบรายการต่างๆ และสรุปวงเงินสุดท้ายให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งวงเงินอาจจะต่ำกว่าข้อเสนอของเอกชนซึ่งอยู่ที่ 5,807,000,000.00 ล้านบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าจะลงนามสัญญานี้ได้ภายในเดือน ส.ค. 

นายทนงศักดิ์ กล่าวต่อว่า การประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ล็อตนี้จำนวน 5 เส้นทาง สัญญางานโยธารวม 10 ฉบับ มูลค่ารวม 79,161 ล้านบาท คงไม่สามารถลงนามสัญญาทันปีงบประมาณ 2560 หรือภายในเดือน ก.ย. นี้ทั้งหมด เพราะบางส่วนจะเปิดให้เสนอราคาในเดือน ก.ย.

รายงานข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล มีบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 8,198 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหินมีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 7,520 ล้านบาท 

ผู้เกี่ยวข้องตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่การประมูลรอบนี้มีส่วนลดน้อย เพราะเนื้องานค่อนข้างยาก โดยเฉพาะงานตอกเข็ม และบางส่วนอาจเกิดจากผู้รับเหมาวิเคราะห์กำไรขาดทุนมากขึ้น หลังการประมูลรถไฟทางคู่ เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มีแข่งขันสูงและมีการเสนอส่วนลดต่ำสุดถึง 20%

โดยข้อเสนอรอบนี้แม้จะคิดเป็นส่วนลดเพียง 2% แต่มูลค่าเงินก็อยู่ในระดับ 150-200 ล้านบาท ซึ่งก็นับว่าไม่น้อย ขณะที่ผู้เสนอราคาต่ำสุดอันดับ 1 และอันดับ 2 ก็มีส่วนต่างระดับ 100 ล้านบาท จึงมองว่าถ้ามีความร่วมมือในการฮั้วราคาจริง ก็น่าจะมีส่วนต่างแค่ 5-10 ล้านบาทก็พอแล้ว

ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท. เตรียมเสนอผลการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร ให้บอร์ดเห็นชอบในวันนี้ (11 ส.ค.) โดยการประมูลจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา และมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้ชนะ ด้วยข้อเสนอต่ำสุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งต่ำกว่าราคากลางถึง 20% ด้านผู้เสนอราคาต่ำเป็นอันดับ 2 คือกิจการร่วมค้าเคเอสเอส, อันดับ 3 SHPS Joint Venture, อับดับ 4 บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง 1964 จำกัด และอันดับ 5 STEC 

สำหรับบริษัท เอ.เอส.ฯ เป็นผู้รับเหมางานวิศวกรรมทุกสาขาโดยเฉพาะวิศวกรรมโยธา ที่ผ่านมามีผลงานก่อสร้างและปรับปรุงทางรถไฟให้ ร.ฟ.ท. จำนวน 6 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ (ระยะที่ 2) สายใต้ ตอนที่ 2 ช่วงสถานีชุมทางตลิ่งชันถึงสถานีนครปฐม วงเงิน 4.1 พันล้านบาท เมื่อปี 2546 หรือโครงการปรับปรุงทางรถไฟ ระยะที่ 6 สายตะวันออกเฉียงเหนือช่วงชุมทางบางบัวใหญ่-หนองคาย มูลค่า 6.5 พันล้านบาทในปี 2556

นอกจากนี้ เอ.เอส.ฯ ยังมีสัญญากับการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาที่ 3 งานโยธา ศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร มูลค่า 4 พันล้านบาท และสัญญาที่ 4 งานระบบราง 2.8 พันล้านบาท

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ