ข่าว

ดึงเอกชนลงทุนไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน 2.8 แสนล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดึงเอกชนลงทุนไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน 2.8 แสนล้าน

              นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) วานนี้ (9 ส.ค.) ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้สรุปผลศึกษาแนวทางที่รถไฟความเร็วสูง จะเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภาแบบไร้รอยต่อ โดยรถไฟความเร็วสูงนี้จะวิ่งเชื่อมโยง 3 สนามบิน และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน ใช้เวลาเดินทางระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 45 นาที โดยมีสถานีมักกะสัน เป็นสถานีกลางของรถไฟความเร็วสูง

               นอกจากนี้ ในส่วนช่วงที่ผ่านกรุงเทพฯชั้นในจะลดความเร็วลงมาที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะวิ่งความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเขตนอกเมือง และมีรถด่วนพิเศษเชื่อม 3 สนามบิน และรถธรรมดาที่จอด 10 สถานีระหว่างทาง ส่วนรูปแบบการลงทุนจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด ประกอบด้วย การก่อสร้าง และให้บริการรถไฟความเร็วสูงมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท และลงทุนพัฒนาสถานีมักกะสัน รวมทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงอื่นๆใช้งบก่อสร้างประมาณ 8 หมื่นล้านบาท รวมเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 2.8 แสนล้านบาท 

              โดยโครงการนี้จะประสานงานให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันทันทีที่ 2 โครงการแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะออกหนังสือชี้ชวนการลงทุน (ทีโออาร์) ได้ภายในปลายปีนี้ และเริ่มประมูลได้ในช่วงต้นปีหน้า

                “จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าค่าโดยสารรถระหว่างสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินอู่ตะเภาจะอยู่ที่ 500 บาทต่อเที่ยว และจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินอู่ตะเภาค่าโดยสารอยู่ที่ 300 บาทต่อเที่ยว ซึ่งใกล้เคียงกับค่าโดยสารทางรถสาธารณะในปัจจุบัน แต่มีความรวดเร็ว และสะดวกสบายมากกว่า”

              ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเดินหน้าได้รวดเร็ว คณะอนุกรรมการจัดทำระเบียบการร่วมทุนเอกชนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (คณะอนุกรรมการ พีพีพี) และสำนักนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้จัดทำร่างกฎหมายลำดับรองที่จำเป็นในการทำงาน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างกฎหมายลำดับรองเรื่อง รูปแบบและรายละเอียดของรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ รวมถึงแนวทางและวิธีการในการสนับสนุนเอกชน 2. ร่างกฎหมายลำดับรองเรื่อง คุณสมบัติที่ปรึกษา และ3. ร่างกฎหมายลำดับรอง เรื่องการประกาศเชิญชวน วิธีประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือก และหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเอกชน

               โดยโครงการร่วมลงทุนเอกชนที่จะเร่งรัดในโครงการอีอีซี จะมี 4 โครงการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งความคืบหน้าของทั้ง 2 โครงการนี้ได้จำทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จแล้ว ส่วนอีก 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

                  นายคณิศ กล่าวว่า ที่ประชุม กรศ. ยังมีมติให้กองทัพเรือ สำนักงานการท่าอากาศยานอู่ตะเภา และสำนักงาน อีอีซี ไปดำเนินการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เนื่องจากมีนักลงทุนต่างชาติหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ เช่น โบอิ้งจากสหรัฐ ซาบจากสวีเดน มิตซูบิชิจากญี่ปุ่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจากเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งแต่เดิม ได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับเฉพาะโครงการร่วมลงทุนของการบินไทยกับแอร์บัส ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขยายพื้นที่เพื่อรองรับนักลงทุนเหล่านี้

                 สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จะประกอบด้วยโรงซ่อมเครื่องบินแห่งใหม่ภ่ยใต้แนวคิดSmart Hangarรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานยุคใหม่ โดยเฉพาะAirbus A350และยังประกอบด้วยส่วนสำคัญอื่นๆ เช่น โรงซ่อมวัสดุคอมโพสิต ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของลำตัวเครื่องบินสมัยใหม่ ศูนย์อะไหล่ชิ้นส่วน และอุปกรณ์อากาศยาน พร้อมศูนย์ฝึกช่างอากาศยานชั้นสูง 

                นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ที่ประชุม กรศ. ยังได้เห็นชอบในหลักการ สำหรับหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งนิคมฯที่จะยกขึ้นมาเป็นเขตส่งเสริมฯ จะต้องเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมานิคมฯสมาร์ทพาร์ค ในบริเวณนิคมฯมาบตาพุด มีเป้าหมายรองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โลจิสติกส์ และการแพทย์ครบวงจร ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายไปแล้ว

                 นอกจากนี้ กำลังพิจารณาอีก 3 พื้นที่ ในการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ นิคมฯเหมราช อิสเทิร์นซีบอร์ด 4 รองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานยนต์แห่งอนาคต การบินและชิ้นส่วนอากาศยาน นิคมฯอมตะ มีความพร้อมที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะด้านการศึกษาและพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยี และนิคมฯปิ่นทอง 5 รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งหากหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายเสร็จทันก็จะเร่งเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกในครั้งต่อไป 

                 สำหรับการหาพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี ขณะนี้ในพื้นที่ อีอีซี มีพื้นที่ในนิคมฯต่างๆรองรับโรงงานอุตสาหกรรมได้ประมาณ 1.69 หมื่นไร่ รองรับการขยายตัวของอีอีซีได้ถึงปี 2561 และยังมีผู้ประกอบการพัฒนานิคมฯอีกประมาณ 10-12 ราย ขอตั้งนิคมฯใหม่ โดยแต่ละรายจะมีที่ดินประมาณ 1.5-2 พันไร่ รวมแล้วกว่า 2 หมื่นไร่ ซึ่งเพียงพอในการรองรับอีอีซีในระยะยาว

                 ในส่วนของการเตรียมแหล่งน้ำรองรับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี นั้น ใน 5 ปีแรก ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่ในอีก 5 ปี ถัดไป กรมชลประทานได้เตรียมพัฒนาแหล่งน้ำ 16 โครงการรองรับ และในระยะยาวได้ประสานกับทางประเทศกัมพูชาในการดึงน้ำจากเขื่อนสตึงนำ ที่อยู่ติดกับจังหวัดตราด เข้ามาใช้ในพื้นที่ได้วันละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อจ่ายให้กับอ่างเก็บน้ำต่างๆ รวมทั้งยังได้พิจาณณาส่งเสริมการรีไซเคิลบน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้น้ำในพื้นที่ อีอีซี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ