ข่าว

“เอสซีจี”ลดเป้าโตเหลือ3-5% ก่อสร้าง-ปิโตรเคมีฉุดยอด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เอสซีจี”ลดเป้าโตเหลือ3-5% ก่อสร้าง-ปิโตรเคมีฉุดยอด

 

เครือซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี ถือเป็นองค์กรธุรกิจร้อยปีขนาดใหญ่ ที่ดำเนินธุรกิจหลากหลาย อีกทั้งในหลายธุรกิจยังเป็นผู้นำตลาดในไทยและอาเซียน ผลการดำเนินงานจึงสะท้อนภาพรวมธุรกิจไทยได้ดี โดยเฉพาะในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง  

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก(ม.ค.-มิ.ย.) ว่า จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ทำให้ราคาสินค้าปิโตรเคมีลดลง และทำให้ต้องขาดทุนจากการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือ ประกอบกับภาวะตลาดก่อสร้างภายในประเทศชะลอตัวจากการลงทุนที่ลดลง และภาวะฤดูฝนที่มาเร็ว และมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้คาดว่ายอดขายในภาพรวมของเอสซีจีในปีนี้ จะต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าปีนี้จะเติบโต5-10% อาจจะลดลงเหลือเติบโต3-5%จากยอดขายรวมของปีก่อน อยู่ที่ 4.23แสนล้านาท

“ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก แต่ก็จะมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องกำลังการผลิตของคู่แข่งที่จะเข้ามาใหม่ในตลาดอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาในช่วงปลายปี แม้จะกระทบกับปีนี้ไม่มาก แต่การแข่งขันในปีหน้าจะรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ จะต้องจับตาราคาแนฟทา ที่เป็นวัตถุดิบหลักของปิโตรเคมี ที่ขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนธุรกิจซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้างคาดหวังว่าจะดีขึ้น แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะตีตื้นขึ้นมาเป็นบวกได้หรือไม่” 

สำหรับงบการเงินในไตรมาส2ของเอสซีจี มีรายได้จากการขาย108,825ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด13,252ล้านบาท ลดลง17%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง24%จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการปรับตัวมูลค่าสินค้าคงเหลือ ประกอบกับสภาพตลาดที่ชะลอตัว และการแข่งขันในภาพรวมของธุรกิจซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่รุนแรงขึ้น

ส่วนผลกระกอบการในในครึ่งปีแรกของปี2560เอสซีจี มีรายได้จากการขยาย225,093ล้านบาท เพิ่มขึ้น3%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด30,638ล้านบาท เพิ่มขึ้น4%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากผลประกอบการในไตรมาส1ที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการส่งออกครึ่งปีแรก60,689ล้านบาท คิดเป็น27%ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 2%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดในประเทศจีนและเอเชียใต้ 

ด้านผลการดำเนินงานของเอสซีจีในอาเซียน นอกเหนือจากประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 มีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 52,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24% ของรายได้รวม เพิ่มขึ้น 5%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เอสซีจีมีสินทรัพย์รวมในอาเซียน นอกเหนือจากประเทศไทย มูลค่า 137,783 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 25%ของสินทรัพย์รวมของบริษัทที่มีมูลค่า 552,373 ล้านบาท

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า หากแยกตามรายธุรกิจของ เอสซีจี จะพบว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ ในไตรมาสที่ 2 ในปี 2560 มีรายได้จากการขาย 49,585 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ลดลง 9%จากไตรมาสก่อน มีกำไรสำหรับงวด 9,258 ล้านบาท ลดลง 18%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 31%จากไตรมาสก่อน เนื่องจากขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือในครึ่งปีแรกของปี 2560 มีรายได้จากการขาย 103,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้จากไตรมาสที่ 1 กำไรสำหรับงวด 22,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ในกลุ่มเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 2 ในปี 2560 มีรายได้จากการขาย 42,657 ล้านบาท ลดลง 1%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 5%จากไตรมาสก่อน มีกำไรสำหรับงวด 1,768 ล้านบาท ลดลง 29%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 28%จากไตรมาสก่อน ในครึ่งปีแรกของปี 2560 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 87,481 ล้านบาท ลดลง 2%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสภาวะตลาดในประเทศไทยที่ยังคงชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น มีกำไรสำหรับงวด 4,236 ล้านบาท ลดลง 27%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 2 ในปี 2560 มีรายได้จากการขาย 19,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด 1,019 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในครึ่งปีแรกของปี 2560 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 39,275 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ มีกำไรสำหรับงวด 2,715 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ในไตรมาสแรก

สำหรับธุรกิจในอาเซียน ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้อนุมัติการลงทุนในLong Son Petrochemicals Company Limited (LSP)โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 71%มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 188,000 ล้านบาท (5,400 ล้านดอลลาร์) ร่วมกับVietnam Oil and Gas Group (PetroVietnam)เพื่อดำเนินโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของประเทศเวียดนามที่มีความทันสมัยระดับชั้นนำของโลกและมีความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ เนื่องจากเชื่อมโยงจากโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นถึงขั้นปลายครบวงจร สามารถใช้วัตถุดิบได้อย่างยืดหยุ่นมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.6 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีครึ่ง และจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2565 ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าและตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ