ข่าว

คลังฉวย‘บาทแข็ง’คืนหนี้นอก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คลังฉวย‘บาทแข็ง’คืนหนี้นอก

  การเคลื่อนไหวของเงินบาทไทยวานนี้(25ก.ค.) อ่อนค่าลงเล็กน้อยมาปิดที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แสดงความกังวลถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วในช่วงก่อนหน้า โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 7% ถือเป็นการแข็งค่าอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากเกาหลีใต้ที่แข็งค่าขึ้น 8%

อย่างไรก็ตามการแข็งค่าของเงินที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลอาศัยจังหวะนี้ในการบริหารด้านการเงิน โดยการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมกับโยกหนี้สินในรูปเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท 

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า สบน.ได้รับนโยบายจาก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ดำเนินการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของหนี้ต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ ถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะปิดความเสี่ยงในเรื่องนี้ เนื่องจาก เป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์

โดยสบน.จะเร่งดำเนินการปิดความเสี่ยงหนี้ต่างประเทศของภาครัฐ ส่วนหนี้ต่างประเทศที่เป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ทางสบน.ได้ส่งต่อนโยบายไปให้บรรดารัฐวิสาหกิจที่มีภาระหนี้ต่างประเทศและยังไม่มีการปิดความเสี่ยง

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ยอดหนี้สาธารณะมีอยู่จำนวน 6.34 ล้านล้านบาท หรือ 42.90% ต่อจีดีพี ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 6.03 ล้านล้านบาท หรือ 95.01% หนี้ต่างประเทศ 3.17 แสนล้านบาท หรือ 4.99% แบ่งเป็นหนี้ระยะยาว 5.44 ล้านล้านบาท หรือ 85.65% และ หนี้ระยะสั้น 9.11 แสนล้านบาท หรือ 14.35%

นายธีรัชย์ กล่าวว่า ในจำนวนหนี้ต่างประเทศทั้งหมดนั้น มีหนี้ในส่วนของรัฐบาลน้อยมากหรือประมาณ 1% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ในส่วนของหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลนั้น ทางสบน.อยู่ระหว่างมอนิเตอร์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อดูระดับที่จะเข้าปิดความเสี่ยง คาดว่า ภายใน 1-2 เดือนนี้ น่าจะสามารถปิดความเสี่ยงได้ โดยหนี้ต่างประเทศที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ที่จะปิดความเสี่ยงในรอบแรกมีอยู่ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนี้ต่างประเทศสกุลเงินเยนมีอยู่ประมาณ 3-4 หมื่นล้านเยน ก็เตรียมที่จะปิดความเสี่ยง แต่ขอมอนิเตอร์ตลาดอีกระยะ

“หนี้ต่างประเทศของรัฐบาลมีอยู่ไม่มาก เราก็ได้ขอนโยบายจากรัฐมนตรีคลัง เพื่อเข้าปิดความเสี่ยง ท่านก็มอบนโยบายให้เข้าทำได้ เพราะถือเป็นโอกาสที่ดี ฉะนั้น ช่วงนี้ เราก็อยู่ในช่วงที่มอนิเตอร์ตลาด ถ้าจังหวะดี เราก็จะเข้าไปปิดความเสี่ยง โดยการสวอปจากสกุลเงินต่างประเทศมาเป็นเงินบาททั้งหมด” 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนว่า ที่ผ่านมา ทางธนาคารพาณิชย์เอกชนได้ขอให้กระทรวงการคลังแบกรับภาระค่าธรรมเนียมในการทำประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่ทางกระทรวงการคลังเห็นว่า ทางธนาคารพาณิชย์เองควรที่จะเป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าวไว้เอง

สาเหตุเพราะ ลูกค้าเอสเอ็มอีก็ถือเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์เอง เมื่อธนาคารเข้าไปช่วยเหลือเรื่องค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก็ถือเป็นการช่วยลูกค้าและช่วยป้องกันปัญหาสินเชื่อของตัวเองที่อาจจะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ดังนั้น จึงถือเป็นความมั่นคงของสินเชื่อของธนาคารเองด้วย

“เรื่องค่าธรรมเนียมในการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เรามองว่า ไม่ได้เข้าไปกระทบต้นทุนของธนาคารมากนัก โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารมีผลกำไรสูงในขณะนี้ ก็น่าจะเข้าไปช่วยสังคมบ้าง”

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2560 มาเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้วประมาณ 7% สาเหตุสำคัญมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา มีเงินลงทุนโดยตรงของภาคธุรกิจที่ไหลเข้ามา ถือเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทเพิ่มเติมด้วย

แม้ในภาพรวมการแข็งค่าของเงินบาทจะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเงินสกุลอื่นในภูมิภาค แต่ระยะหลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว สะท้อนปฏิกิริยาของตลาดที่อ่อนไหวกับความผันผวนในระยะสั้นที่มากเกินไป ดังนั้น ธปท. จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยง(เฮดจิ้ง) จากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า เพื่อรองรับกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ