ข่าว

กรมชลเตรียมสร้างอ่างฯห้วยขะยุงแก้ปัญหาน้ำอีสานตอนล่าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมชลเตรียมสร้างอ่างฯห้วยขะยุงแก้ปัญหาน้ำอีสานตอนล่าง

              กรมชลประทานเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ โดยน้อมนำพระบรมราโชวาท รัชกาลที่ 9 เพื่อพัฒนาเสริมความมั่นคงพื้นที่ชายแดนเขตอีสานตอนล่าง เร่งศึกษา EIA สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง จังหวัดศรีสะเกษ แก้ปัญหาอีสานใต้ขาดแคลนน้ำ-น้ำท่วม เสริมความมั่นใจให้พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมยืนยันหากสำเร็จมีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 40,000 ไร่
             ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแวดล้อม (EIA) การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากเกือบทุกปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากบริเวณลำน้ำห้วยขะยุงตอนล่าง ซึ่งจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตลอดจนเพื่อใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดอื่นๆ สร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง
             นอกจากนี้ยังจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ระยะยาวต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร และเป็นการสนับสนุนแนวนโยบายการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงของชาติ บริเวณเชิงเขาพนมดงเร็ก ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา อีกด้วย
             สำหรับโครงการก่อสร้างอ่างฯห้วยขะยุงนั้น เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง หัวงานที่จะสร้างเขื่อนตั้งอยู่ในเขตตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยศึกษาไว้ 3 แนวทางเลือกคือ แนวทางที่ 1 แนวสันเขื่อนอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยขะยุง ไปทางใต้ตามถนนบ้านสามเส้า-ช่องพระพะลัย ประมาณ 115 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 32.00 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ผิวน้ำที่ระดับน้ำสูงสุดทั้งหมด 3,750 ไร่ แนวทางที่ 2 แนวสันเขื่อนอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยขะยุง ไปทางใต้ตามถนนบ้านสามเส้า-ช่องพระพะลัย ประมาณ 350 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 40.00 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ผิวน้ำที่ระดับน้ำสูงสุดทั้งหมด 3,812.50 ไร่ และแนวทางที่ 3 แนวสันเขื่อนอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยขะยุง ไปทางใต้ตามถนนบ้านสามเส้า-ช่องพระพะลัย ประมาณ 655 เมตร แนวทางนี้สามารถเก็บกักน้ำได้ 51.56 ล้าน ลบ.ม.มีพื้นที่ผิวน้ำที่ระดับน้ำสูงสุดทั้งหมด 3,445 ไร่
                  รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวด้วยว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุงดังกล่าว เป็นโครงการพัฒนา แหล่งน้ำที่สืบเนื่องมากจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 ที่ทรงเน้นเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเสริมความมั่นคงพื้นที่ชายแดนเขตอีสานตอนล่าง เพื่อช่วยเหลือประชาชนตามแนวชายแดนให้มีแหล่งน้ำให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมั่นคง ตลอดจนเป็นการป้องกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

                  กรมชลประทานจึงได้ทำการศึกษาที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับพื้นที่ดังกล่าว โดยพื้นที่ที่จะก่อสร้างมีบางส่วนของในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระวิหาร และบางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ซึ่งขณะนั้นอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้
              อย่างไรก็ตามในปี 2545 ได้มีการปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรมใหม่ ได้โอนอำนาจหน้าที่รักษาการณ์ ป่าสงวนแห่งชาติจากกรมป่าไม้ไปกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดังนั้นเพื่อให้เป็นการดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติฯ ประกอบกับมีพื้นที่อยู่ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (ป่าโซน C) มากกว่า 500 ไร่ จึงทำต้องทำการศึกษาทบทวนวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแวดล้อม (EIA) ใหม่ ซึ่งการศึกษา EIA ในครั้งนี้ได้ศึกษาครอบคลุมในทุกๆด้าน ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของราษฎรในพื้นที่
              “ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน กรกฎาคม 2561 และจะเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาต่อไป หากไม่มีปัญหาอะไรคาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 2563 เมื่อเสร็จจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการถึง 40,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ และอำเภอเบจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ” ดร.สมเกียรติกล่าวในตอนท้าย
                                             -----------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ