ข่าว

กกพ.รื้อโครงสร้างค่าไฟ รับมือพลังงานทดแทนเพิ่ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กกพ.รื้อโครงสร้างค่าไฟ รับมือพลังงานทดแทนเพิ่ม

 

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยในงานสัมมนา “Back up rate กับ Solar Cell ข้อเท็จจริงที่ควรรู้...?” ว่า กกพ.อยู่ระหว่างทบทวนปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ สำหรับประกาศใช้ปี 2561-2565 เพื่อให้สอดรับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยจะต้องปรับฐานข้อมูลสำคัญ เช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงกลางวันจะเปลี่ยนไปเกิดในช่วงกลางคืนแทน เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และมาช่วยตัดความต้องการไฟฟ้าพีคในตอนกลางวันลง ดังนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากช่วงกลางคืนอาจจะต้องเสียค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

“กกพ.จะต้องทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้(TOU)ใหม่ด้วย ซึ่งผู้ใช้ไฟTOU ที่เดิมจะเก็บค่าไฟฟ้าแพงในช่วงกลางวัน แต่จะต้องเปลี่ยนไปคิดค่าไฟฟ้าแพงในช่วงกลางคืน และผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป อาจจะต้องถูกจัดเข้ากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าTOUด้วย”

รวมถึง ภาครัฐจะต้องปรับพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า และพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้แม่นยำขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) หลังพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าพีคและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี)ต่ำกว่าแผนที่ประเมินไว้ เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) วางแผนการลงทุนให้สอดรับกับความเป็นจริง เพื่อลดภาระการลงทุนที่สูงเกินกว่าแผน (over-investment) คาดว่า โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2561

นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับนโยบายจัดเก็บอัตราค่าสำรองไฟฟ้า(Backup Rate) กับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง(IPS)นั้น ยืนยันว่า กกพ.ยังไม่มีนโยบายจัดเก็บBackup Rateจากพลังงานทดแทนทุกชนิดโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป ภายใน 1-2 ปีนี้ เพราะปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมีเพียง 200 เมกะวัตต์ คิดเป็น 0.5%ของกำลังการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเงินของการไฟฟ้าไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม กกพ.ยังเดินหน้าศึกษาการจัดเก็บ Backup Rate ในกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นกลุ่ม IPS ที่ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน และกังหันก๊าซ แต่ยังคงต้องรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าอยู่อีกส่วนหนึ่ง และมีลักษณะการใช้ไฟฟ้าต่างออกไปจาก การจัดเก็บ Backup Rate ในปัจจุบันที่มีการจัดเก็บอยู่ใน 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ผลิตไฟเองใช้เอง 100% ซึ่งจะเน้นใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบจึงต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้าเข้ามาเสริมระบบกรณีมีการหยุดซ่อม โดยแบ่งอัตราเก็บอยู่ที่ 52 -66 บาทต่อกิโลวัตต์ 

และ2.SPP Cogeneration กลุ่มผู้ผลิตไฟรายเล็กที่จำหน่ายไอน้ำและความร้อนให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและจำหน่ายไฟให้กับการไฟฟ้าเก็บที่ 26 - 33 บาทต่อกิโลวัตต์ คาดว่า การจัดเก็บ Backup Rateกลุ่มใหม่นี้จะใช้เวลาศึกษา 1-2 เดือน

นายอุริช อัชชโคสิต นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ต่างประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เข้าสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศมีรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่ต่างกัน เช่น รัฐแคลิฟลอเนีย มีผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในระบบเพิ่มขึ้นและทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยที่ไม่ติดตั้ง รวมถึงผู้ที่อยู่ในคอนโดมิเนียมเสียเปรียบ โดยใช้วิธีจัดเก็บค่าไฟขั้นต่ำ หรือ Minimum Bill ที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 10 ดอลลาร์ต่อเดือน 

ขณะที่สเปน ใช้วิธีเก็บค่าภาษีแดด หรือ Sun Tax กับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม ดังนั้น ไทยควรศึกษารูปแบบที่เหมาะสม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ