ข่าว

ปตท.ชงบอร์ดเคาะแผนธุรกิจ 5 ปี 21 ก.ค.นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปตท.ชงบอร์ดเคาะแผนธุรกิจ 5 ปี 21 ก.ค.นี้

รายงานข่าวบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)ปตท. วันที่ 21 ก.ค. นี้ ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม ปตท.จะนำเสนอกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในอนาคต เพื่อขอความเห็นชอบจากบอร์ด หลังผู้บริหารระดับสูงกลุ่ม ปตท.ได้ประชุมร่วมกันเมื่อต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดยุทธ์ศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม ปตท.(Strategic Thinking Session) หรือ STS โดยเป็นเรื่องที่เคยบรรจุไว้ในแผนงานอยู่แล้วแต่จะทบทวนทิศทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 

โดยกลุ่ม ปตท.จะมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ (disruptive technology) เช่น พัฒนาการของเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้า,ยานยนต์สมัยใหม่ ,และการธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เป็นต้น

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. กล่าวว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ต้นทุนการติดตั้งถูกลงมากอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นบาทต่อกิโลวัตต์ คุ้มค่าต่อการลงทุน กลุ่ม ปตท.จึงสนใจที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองทดแทนการซื้อใช้ไฟฟ้าจากระบบ โดยผ่านการลงทุนของบริษัทลูก คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ที่ประกอบธุรกิจไฟฟ้า

“โซลาร์รูฟท็อปเป็นเรื่องที่พูดกันมา 20 ปี ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าราคาจะถูกลง แต่ก็เพิ่งมาลงเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage)บอกว่าจะมา ก็ไม่รู้ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ โดยกลุ่ม ปตท.ก็พูดคุยถึงทิศทางและบรรจุไว้ในแผนอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่า จะปรับตัวทันกับเทคโนโลยีต่างๆ เช่น โซลาร์รูฟท็อป หากลงทุนจริงใช้เวลาติดตั้ง 3 เดือนก็เสร็จ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ภาครัฐมีแนวคิดจะจัดเก็บอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) มองว่า เป็นเรื่องที่ต้องดูว่ามีเหตุผลหรือไม่ หรือ Backup Rate อยู่ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าอยู่แล้ว รวมถึงอาจจะต้องพิจารณาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะหากการไฟฟ้ากังวลว่า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจำนวนมากอาจส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีก)ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน เปลี่ยนไปเกิดในช่วงกลางคืนแทน และการไฟฟ้าอ้างว่า เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าลากยาว เพื่อสำรองไฟฟ้าไว้รับมือความต้องการใช้ในช่วงกลางคืนนั้น หากรู้ว่า พีกคลาดเคลื่อนไปจากเดิมก็สามารถปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ปรับมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว รวมถึงปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้(TOU)ใหม่ได้

ทั้งนี้ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ได้รับความนิยมมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าจะต้องเร่งปรับตัว แต่กรณีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง หันไปเป็นผู้ใช้บริการและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้น อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจดำเนินธุรกิจเพื่อแข่งขันกับเอกชน เช่น เดียวกับ ปตท. ที่ต้องแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ไปอยู่ภายใต้การจัดตั้งบริษัทใหม่ คือ พีทีทีโออาร์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะราคาแอลเอ็นจีปัจจุบันถูกลงใกล้เคียงกับถ่านหิน ไม่มีส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ลดกระแสต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าได้ ซึ่ง ปตท.ก็พยายามหาโอกาสทำสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวกับแหล่งใหม่ๆเพิ่มเติมแล้ว และได้ราคาที่ดี เช่น ปิโตรนาส เชลล์ และบีพี จากเดิมที่มีสัญญากับกาตาร์ 2 ล้านตันต่อปี

โดยมองว่า หากราคาน้ำมันดิบในอนาคตปรับขึ้นไปสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็ไม่ทำให้ราคาแอลเอ็นจีขึ้นไปถึง 16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทีเหมือนอดีตได้ อย่างมากก็อยู่ที่ 10-12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เพราะกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติที่ถูกกักไว้ในชั้นหินใต้ดิน(shale gas) มีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. สามารถตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้าย(FID) โครงการโรวูมา ออฟชอร์ แอเรียวัน ที่โมซัมบิก ได้นั้น จะเพิ่มความมั่นคงการจัดหาแอลเอ็นจีให้กับไทยมากขึ้น เพราะโมซัมบิกมีปริมาณสำรองก๊าซมากกว่าไทยถึง 7 เท่า และหากโครงการนี้มีความชัดเจนแล้ว ปตท.สผ. จะต้องเริ่มใส่เงินลงทุนจำนวนมากตามสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่ 8.5%

แหล่งข่าวบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี กล่าวว่า บริษัท อยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ซึ่งเป็นการติดตั้งเฉพาะที่ปตท.เป็นผู้ดำเนินการเอง ไม่ใช่ของตัวแทนจำหน่าย(ดีลเลอร์) คาดว่า จะนำเสนอ ปตท.พิจารณาได้ภายในปีนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ