ข่าว

ตลาดเคหะประชารัฐ สำคัญอยู่ที่เนื้อใน ใช่เพียงรูปแบบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตลาดเคหะประชารัฐ สำคัญอยู่ที่เนื้อใน ใช่เพียงรูปแบบ

 แนวคิดประชารัฐ ซึ่งมีความหมายว่า ประชาชนร่วมกับรัฐในการพัฒนา   แท้จริงคือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนดีๆ นี่เอง

ที่ผ่านมา กระบวนการพิจารณา วางแผน  ตัดสินใจ และลงมือกระทำ เป็นบทบาทของฝ่ายรัฐเพียงลำพัง (Top-Down) โครงการพัฒนาต่างๆ จึงค่อยๆ เริ่มประสบปัญหามากขึ้นตามลำดับ การหยิบยกการพัฒนาแบบประชารัฐจึงถือได้ว่า มาถูกทางสอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง

โครงการตลาดนัดประชารัฐ โดยหลักการเป็นเรื่องดี เพราะทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย สร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นงานของกระทรวงพาณิชย์ที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ในกรณีของการเคหะแห่งชาติ จึงเป็น “โครงการตลาดนัดเคหะประชารัฐ”

ข้อเด่นของการเคหะแห่งชาติคือมีชุมชนเคหะหลายแห่ง และมีพื้นที่ว่างมากพอที่จะทำตลาด
หรือเสริมเข้าไปในตลาดนัดเดิม มีกลุ่มลูกค้าอย่างน้อยก็คนในชุมชน มีพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นคนในชุมชน
ส่วนหนึ่ง มีที่จอดรถมาก

            “องค์ประกอบของตลาด 5 ด้าน การเคหะฯ มีแล้ว 3 ด้าน คือ สถานที่ ผู้ซื้อ ผู้ขาย เหลือแต่สินค้าและการบริหารจัดการ ซึ่งต้องหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความแตกต่างจากตลาดทั่วไปและให้เกิดความยั่งยืน” ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าว

            สำหรับพื้นที่นำร่องของการเคหะฯ จะมีด้วยกัน 4 แห่ง ได้แก่ ตลาดเคหะประชารัฐคลองจั่น ตลาดเคหะประชารัฐห้วยขวาง ตลาดเคหะประชารัฐบ่อนไก่ และตลาดเคหะประชารัฐดินแดง 2  จากชุมชนเคหะ
ที่มีมากถึง 680 แห่งทั่วประเทศ

            ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ
มีความพร้อมในการขับเคลื่อนตลาดประชารัฐมาก ที่ผ่านมาตลาดนัดของการเคหะฯ ก็ให้บริการคนภายในชุมชนเคหะเป็นหลัก ตนอยากเห็นการเพิ่มมิติประชาชนจากภายนอก เข้ามาซื้อสินค้าภายในพื้นที่ชุมชนเคหะด้วย

            “สินค้าบางอย่างเช่นผักผลไม้อินทรีย์ นอกจากในห้างฯ แล้วหาซื้อได้ยาก อาจหาสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือมาขายในตลาดเคหะประชารัฐ ซึ่งจะมีความหลากหลายทั้งสินค้าราคาถูก สินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ จากสินค้าธงฟ้าและสินค้าคุณภาพราคาสูงขึ้นมา เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย”

            นายสนธิรัตน์กล่าวว่า แนวทางตลาดประชารัฐเป็นที่สนใจของสมาคมร้านขายยาที่แสดงความประสงค์เข้ามาร่วมโครงการด้วย “เขาพร้อมร่วมมือเป็นเครือข่าย ทั้งในตลาดเคหะประชารัฐนำร่อง 4 แห่ง และอีกกว่า 600 แห่ง”

            รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ย้ำว่า โครงการตลาดเคหะประชารัฐนั้นจำเป็นที่ต้องหารือและวางแผนร่วมกับประชาชนและทุกฝ่าย ไม่เฉพาะแต่กระทรวงพาณิชย์ หรือ คสช. เท่านั้น เป็นแนวทางใหม่ที่ในอดีตไม่เคยทำกันในเชิงนโยบายที่ต้องพูดคุยขอความเห็นและร่วมวางแผนจากพ่อค้าแม่ค้าด้วย

            “เป็นนโยบายรัฐบาล ผมจะนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบผลงานว่า เป็นโครงการร่วมของหลายฝ่าย ประโยชน์ตกแก่ชุมชน รวมทั้งคนรอบๆ ชุมชน”

            หลังการแกลงข่าวโครงการตลาดเคหะประชารัฐ คณะผู้บริหารจากกระทรวงพาณิชย์ นำโดย
นายสนธิรัตน์ และคณะผู้บริหารของการเคหะแห่งชาติ นำโดย ดร.ธัชพล ได้เดินเยี่ยมชมและทักทายสอบถามผู้ค้าในตลาดนัดเคหะชุมชนคลองจั่นที่ขายประจำทุกวันพฤหัสบดี

            นางจิราวรรณ มีสมบูรณ์ แม่ค้าขายฝรั่งกิมจู ร้านที่ 2 ที่คณะแวะเยี่ยม มาจาก จ.นครปฐม รับซื้อฝรั่งกิมจูจากสวนเกษตรกรที่นั่นโดยตรง โดยประกันราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 28 บาท ในขณะเกษตรกรรายอื่นขายให้ตลาดค้าส่งเพียงกิโลกรัมละ 7-18 บาทเท่านั้น

            “เรารับซื้อจากสวนโดยตรงลังละ 20 กิโล ราคากิโลละ 28 บาท แต่ขายได้ทุกลูกไม่มีเน่าเสีย ตัดเช้า สดๆ ขึ้นรถมาขายตอนบ่าย  แต่แม่ค้าที่รับซื้อจากตลาดค้าส่ง 1 ลังน้ำหนักไม่ครบ แถมยังมีเน่าเสียอีก เพราะกว่าจะถึงมือแม่ค้าขายปลีกก็สองวันแล้ว ขายได้จริงแค่ 10 กิโลเท่านั้น ดังนั้นแม่ค้าที่รับจากตลาดค้าส่งจึงเสี่ยงสูงต่อการขาดทุน  เพราะถ้าจะให้อยู่ได้จริงๆ ต้องมีกำไรกิโลละ 20 บาทหลังหักค่าเช่าแผง ค่าน้ำมันรถ”

            ที่พูดด้วยข้อมูลได้เช่นนี้ เพราะเธอเองเคยรับซื้อฝรั่งจากตลาดค้าส่งมาขายปลีกแล้ว และพบว่าต้องขาดทุนจึงต้องแสวงหาแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ รับประกันผลผลิต โดยเฉพาะเธอซื้อจากสวนทุกวัน วันละ 500-600 กิโลกรัม และขายในกรุงเทพฯ ทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดพักผ่อนเพียงวันเดียว

            เธอขายฝรั่งกิมจู กิโลกรัมละ 60 บาท ค้าขายกับสวนมากว่า 10 ปี ก็ยังอยู่ได้ถึงวันนี้  ในขณะแม่ค้า
ที่รับซื้อจากตลาดค้าส่งขายที่กิโลกรัมละ 45 บาท “ส่วนใหญ่เขาอยู่กันไม่ได้ เพราะลังหนึ่งได้ขายจริงแค่ 10 กิโลเท่านั้น นอกนั้นน้ำหนักไม่ครบและมีของเน่าเสีย  แต่ของเรา 1 ลังเท่ากัน ก็ขายได้ทั้ง 20 กิโล”

            คุณภาพการผลิตส่วนหนึ่ง ระบบการค้าตรงกับหลายทอดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การค้าผลไม้อย่างฝรั่งกิมจูมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก

            ราคาขายปลีก จึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการพิจารณาเลือกซื้อผลไม้  การถือกำเนิดนำร่องโครงการตลาดเคหะประชารัฐคลองจั่น จึงควรพิจารณาประเด็นการคัดเลือกผู้ค้าที่เสาะหาสินค้าจากแหล่งผลิตโดยตรงด้วย เพราะจะมีความหมายต่อเนื่องถึงเกษตรกรชาวสวนในฐานะผู้ผลิตต้นทาง  ผู้ค้าปลีกทีเป็นคนกลาง ก่อนถึงมือประชาชนผู้บริโภคปลายทาง ซึ่งจะได้สินค้ามีคุณภาพ สด ใหม่ คุ้มค่าในการจับจ่ายบริโภค และมีส่วนสำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ เป็นการตอบโจทย์ตลาดประชารัฐของรัฐบาลได้อย่างถึงแก่นแท้

 

************************

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ