ข่าว

รัฐเร่งประมูล‘ระบบราง’ ดึงลงทุนปีนี้ 8 แสนล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐเร่งประมูล‘ระบบราง’ ดึงลงทุนปีนี้ 8 แสนล้าน

 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างเปิดประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 10 สัญญา 5 เส้นทาง ระยะทาง 702 กิโลเมตร มูลค่ารวม 79,161 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยได้ตัวผู้รับเหมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.-ก.ย. นี้ ได้แก่

1. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน3. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร4. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระและ5. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ

ร.ฟ.ท. ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกหลายช่วง คาดว่าทั้งหมดจะเปิดประมูลไม่ทันปีนี้ ได้แก่ 1. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท 2. รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 3. รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย 2 ช่วง คือ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา รวมถึงรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

 เตรียมประมูลส่วนต่อขยาย4ช่วง

ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เหลือการประมูลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายอีก 4 ช่วง ได้แก่ 1. รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 2. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย4. 3. รถไฟฟ้าสายส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน และ 4. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มส่วนต่อขยายทางใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู

เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประมูลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 3 โครงการแรกได้ภายในปีนี้ คือ สีม่วงใต้ สีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสีส้มตะวันตก แต่จะไม่มีการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยาย เพราะ รฟม. ได้โอนทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว จึงต้องการให้ กทม. ตัดสินใจเรื่องการเปิดประมูลส่วนต่อขยายเอง 

  เมื่อต้นปีที่ผ่านมารฟม. ยังได้เปิดประมูลรถไฟฟ้าอีก 3 เส้นทางและจะเริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งจะเริ่มตอกเสาเข็มไม่เกินเดือน ก.ย.นี้ รวมถึงโครงการสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ซึ่งเริ่มตอกเสาเข็มเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา 

กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท เตรียมลงนามสัญญากับฝ่ายจีน 2 ฉบับไม่เกินเดือน ก.ย. และคาดว่าอาจเริ่มเปิดประมูลงานโยธาได้ภายในปีนี้

ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กิโลเมตรวงเงินลงทุน 546,744 ล้านบาทนั้น ทางญี่ปุ่นจะส่งรายงานการศึกษาความเหมาะสมฉบับสมบูรณ์ให้ฝ่ายไทยในเดือน ส.ค.นี้ แต่จะเปิดประมูลไม่ทันปีนี้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร มูลค่า215,100 ล้านบาทและกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร มูลค่า 94,673 ล้านบาท  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ทั้ง 2 เส้นทางต้องรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพิ่มเติม และเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ต้องรอผลการศึกษาการวิ่งรถเชื่อม 3 ท่าอากาศยานของ ร.ฟ.ท. ก่อน โดยเบื้องต้นคาดว่าอาจเปิดประมูลทั้ง 2 เส้นทางได้ภายในปีนี้  

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ ครม. เพิ่งอนุมัติโดยมีมูลค่าโครงการ 1.79 แสนล้านบาท อาจยังไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ เพราะเงินลงทุนที่จัดสรรในปีนี้ยังน้อยมาก แต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในปีถัดไป ส่วนความคุ้มค่าการลงทุน คงต้องขึ้นกับว่าโครงการนี้จะดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้มากน้อยแค่ไหน

“ผลต่อเศรษฐกิจระยะสั้นเราก็หวังว่า งบประมาณการก่อสร้างจะหนุนเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่ระยะกลางถึงยาวหลังจากที่โครงการเสร็จสิ้น เราคาดหวังว่าจะดึงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตในไทย พวกนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลโรดโชว์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ” 

สำหรับการลงทุนของรัฐที่คาดหวังให้เอกชนลงทุนตาม เวลานี้นักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติรอดูความชัดเจนของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในช่วงเดือนต.ค. ขณะเดียวกันนักลงทุนบางส่วนอาจมีคำถามในเรื่องของการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งประเด็นที่ห่วงกันค่อนข้างมาก คือ ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี) กล่าวว่า การลงทุนของภาครัฐในขณะนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเภทระบบขนส่ง เช่น ทางด่วน รถไฟฟ้า รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงที่เตรียมจะลงทุนในเร็วๆ นี้ ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้แม้จะดึงดูดให้เอกชนลงทุนตามได้ แต่ประสิทธิผลคงไม่มากนัก

“การลงทุนเหล่านี้จะผูกโยงกับภาคการก่อสร้าง ซึ่งการลงทุนเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมีสัดส่วนเพียง 20% ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนอีก 80% เป็นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ เครื่องจักร ดังนั้นการจะหวังให้การลงทุนเอกชนกลับมาได้ อาจต้องมุ่งไปที่โครงการในลักษณะอีอีซี(ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก)” 

นายนริศ กล่าวว่า อีอีซี ถือเป็นความหวังของการลงทุนเอกชน และจะเป็นตัวที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างมั่นคงในอนาคต ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า จะเริ่มเห็นเอกชนบางส่วนเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ช่วงครึ่งปีหลัง เพราะปัจจุบันเอกชนบางแห่งเริ่มที่จะลงทุนแล้ว

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ครม.มีมติอนุมัติไปเมื่อเร็วๆ นี้ หากมองในเรื่องความคุ้มค่าคงต้องดูว่าโครงการนี้จะดึงให้ไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของกลุ่มภูมิภาคได้อย่างไร  หากเป็นเพียงแค่เส้นทางผ่านไปยังประเทศอื่น ไทยก็คงไม่ได้ประโยชน์จากโครงการเหล่านี้

“จีนเขามีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่คุนหมิง พม่าเองก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังได้รับความนิยม  เส้นทางนี้จะตัดผ่านเราไปพม่า ตรงนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะถ้าสร้างแล้วเขาแค่อาศัยวิ่งผ่านเราไป หรือแค่ขนคน แบบนี้ก็ไม่ได้อะไร จึงต้องดูว่าเส้นทางนี้จะทำให้เราเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิต และสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจเราหรือไม่”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ