ข่าว

แบงก์ชาติไร้กังวล‘อสังหาฯ’ล้นตลาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แบงก์ชาติไร้กังวล‘อสังหาฯ’ล้นตลาด

           นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอมรับว่ามีบ้าง ซึ่งธปท.ก็ติดตามดูอยู่ และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เองก็เริ่มเห็นสถานการณ์เหล่านี้ แต่โดยภาพรวมยังไม่น่าเป็นห่วง และยังไม่เห็นปัจจัยใดที่จะสร้างความเสี่ยงเหมือนในอดีต

         “โอเวอร์ซัพพลายมีบ้างเราก็เห็น ผู้ประกอบการก็เห็น แต่เป็นเพียงบางจุดปีนี้ได้ทำเซอร์เวย์ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่แทนที่จะเปิดโครงการใหม่ๆ เขาก็หันมาขายโครงการที่ผลิตออกมาแล้ว มาขายของเดิมๆ เพื่อเคลียร์ปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย”

         อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ต้องแบ่งเป็นรายกลุ่ม เช่น สำนักงานออฟฟิศ คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ตลอดจนศูนย์การค้า ไร้สัญญาณเก็งกำไร

           นายวิรไท กล่าวว่าแม้ปัจจุบันจะมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลายอยู่บ้าง แต่ก็เกิดเพียงบางจุด และยังไม่เห็นปัจจัย หรืออาการใดที่เป็นความเสี่ยงเหมือนในอดีต เช่น คนมาแย่งกันซื้อใบจอง แต่ไม่ได้ต้องการอยู่จริง จนกลายเป็นดีมานด์เทียม

            “ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คือ คนมาแย่งกันซื้อใบจอง เพื่อหวังเก็งกำไร แต่พอโอนจริงๆ ไม่มีใครมาโอน จนโครงการล้มไป ซึ่งเรายังไม่เห็นแบบนั้น และเราก็ยังไม่เห็นว่า แบงก์แย่งกันปล่อยสินเชื่อ หรือแข่งกันปล่อยสินเชื่อเพื่อไปรีไฟแนนซ์โครงการ” 

             ทั้งนี้ความเป็นห่วงขณะนี้ อาจมีบ้างที่ ผู้ประกอบการหันไปพึ่งตลาดตราสารหนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะรายที่ได้เรทติ้งต่ำๆ ระดมทุนสั้นๆ แต่สิ่งเหล่านี้ทั้ง ธปท. และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ก็คอยระวังอยู่ อีกทั้งเวลาที่ขาย ก็ขายให้เฉพาะนักลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อย(เอไอ)

             “สิ่งที่เราไม่อยากเห็น คือ การกู้ยืมระยะสั้นๆ แล้วมาลงทุนในโครงการยาวๆ หรือไปซื้อแลนด์แบงก์ยาวๆ เพราะอาจเกิด Maturity Mismatch เหมือนที่เกิดเมื่อปี 2540 ได้”  

             นายวิรไท กล่าวว่าการที่เริ่มมีบางบริษัทผิดนัดชำระหนี้(ดีฟอลท์) ในตั๋วแลกเงิน(บีอี) ที่เป็นการระดมทุนระยะสั้นๆ และทำให้การออกตั๋วบีอีเริ่มลดลง หากมองในอีกด้านถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ผู้ประกอบการเกิดการปรับตัว หันไปออกตราสารระยะยาวมากขึ้น ซึ่งช่วยลดภาวะ Maturity Mismatch ลงได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้พบว่า บริษัทบางรายกู้ยืมเงินระยะสั้นถึง 50-60% ของเงินกู้ทั้งหมด ก็ทำให้บริษัทเหล่านี้ หันมากู้เงินระยะยาวมากขึ้น ลดความเสี่ยงลง

             ส่วนภาวะโอเวอร์ซัพพลายในอสังหาริมทรัพย์ประเภทศูนย์การค้า อย่างคอมมูนิตี้มอลล์ หรือ ชอปปิงมอลล์ นั้น ธปท. ได้ติดตามดูอยู่ ซึ่งก็อาจมีบ้าง แต่ยอมรับว่ายังไม่มีข้อมูลมากเท่ากับคอนโดมิเนียม

             อย่างไรก็ตาม อสังหาริมทรัพย์กลุ่มนี้ เบื้องต้นมีความท้าทายเพิ่มเติมจากกระแสที่คนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวรองรับกระแสเหล่านี้ 

              นอกจากนี้ นายวิรไท กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า แนวโน้มระยะข้างหน้ายังคงมีความผันผวนที่สูงอยู่ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกไม่ควรประมาท ควรต้องทำประกันความเสี่ยง(เฮดจิ้ง) อัตราแลกเปลี่ยนไว้ตลอด

              “โจทย์ที่เราเห็นและพยายามชี้ให้เขา(ผู้ส่งออก-นำเข้า) เห็นคือ มันอันตรายมากหากคุณไม่ทำ เพราะถ้าค่าเงินมูฟไปในทางที่ไม่ได้คาดคิด แล้วทุกคนลุกขึ้นมาประกันความเสี่ยงพร้อมๆ กัน ค่าเงินจะยิ่งมูฟแรง ผลกระทบก็จะยิ่งมากขึ้น ผมจึงพูดอยู่ตลอดว่า อย่าชะล่าใจ อย่าคิดว่าจะมีใครมากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้” 

                นายวิรไท ยอมรับว่า เรื่องการทำเฮดจิ้งสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก อาจมีต้นทุนที่สูงบ้างเมื่อเทียบขนาดธุรกิจ แต่ ธปท. ได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) ช่วยดูแล ซึ่งทาง เอ็กซิมแบงก์ ก็พยายามหาแนวทางช่วยเหลืออยู่

             “อาจมีบางคนที่อยากปิดความเสี่ยง บริหารความเสี่ยง แต่ต้นทุนเขาอาจสูง ติดปัญหาเรื่องวงเงิน หรือค่าธรรมเนียมที่แพง เราก็ขอความร่วมมือไปยังแบงก์และทางเอ็กซิมแบงก์ หาแนวทางช่วยเหลือ”

              อย่างไรก็ตามหากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ มีการนำเข้าและส่งออกเป็นประจำนั้น กลุ่มนี้มีการทำเฮดจิ้งจนกลายเป็นเรื่องปกติ

                  นายวิรไท กล่าวว่า การทำเฮดจิ้งของผู้ประกอบการไทยนั้น ต้องยอมรับว่ามีน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย เกาหลีใต้ หรือ ไต้หวัน ส่วนหนึ่งอาจเพราะระดับความผันผวนของค่าเงินบาทต่ำกว่า

               “หลายคนชอบมองว่าเงินบาทแข็ง แต่จริงๆ แล้ว เป็นปรากฏการณ์เงินดอลลาร์อ่อน และเป็นการอ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุล ทำไมผู้ประกอบการในประเทศคู่แข่งของเรา เขาบริหารจัดการค่าเงินได้ ซึ่งถ้าเราบริหารไม่ได้ ก็จะกลายเป็นจุดอ่อนสำหรับการแข่งขันในอนาคต แต่เราเห็นว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ของเรา เขาทำเรื่องพวกนี้ได้ดีและต่อเนื่อง”

                สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางๆ ถือว่ามีจำนวนไม่น้อยที่เริ่มมีวินัยโดยประกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีบางส่วนที่เลือกทำเป็นบางช่วงเวลา กลุ่มนี้ ธปท. พยายามส่งเสริมให้เขาทำเฮดจิ้งจนกลายเป็นเรื่องปกติ

                “บางคนอาจมองว่าเป็นต้นทุน  อยากบอกตรงนี้ว่า ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ควรมีต้นทุนบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เหมือนเราซื้อประกัน เราส่งของออกไปข้างนอก การประกันของเสียหายก็เป็นต้นทุนการทำธุรกิจ”

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ