ข่าว

ทุ่ม1.7พันล้านทำบัตรขรก.-คนจน 1ต.ค.รับสวัสดิการรัฐ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทุ่ม1.7พันล้านทำบัตรขรก.-คนจน 1ต.ค.รับสวัสดิการรัฐ

        ครม.ไฟเขียวงบ 1.7 พันล้าน จัดทำบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาล และบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย โดยส่วนบัตรรักษาพยาบาลควบคุมการรั่วไหลของงบประมาณหลังมีภาระเพิ่มปีละ 4-5 พันล้านบาทต่อปี ส่วนบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยครอบคลุม 14 ล้านราย ช่วยค่าเดินทาง ส่วนลดซื้อสินค้า และค่าสาธารณูปโภค 

        รัฐบาลเตรียมแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านราย เพื่อเข้าถึงสวัสดิการของรัฐสำหรับผู้มีรายได้ทั่วประเทศ โดยจะใช้ทันทีในวันเริ่มต้นปีงบประมาณ 2561 คือ วันที่ 1 ต.ค. 2560

         การแจกสวัสดิการดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ต้นในการภาระงบประมาณในการช่วยเหลือ เพราะจะทำให้สามารถรู้จำนวนผู้มีรายได้น้อยและให้ความช่วยเหลือได้ตรงเป้าหมายที่แท้จริง ซึ่งต่างจากเดิมที่เป็นนโยบายประชานิยมที่ให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไป

       นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลาง ประจำปี 2560 และผูกพันงบประมาณปี 2560-2561 วงเงินรวม 1,705 ล้านบาท เพื่อให้กรมบัญชีกลางไปจัดทำบัตรสวัสดิการ 2 โครงการ โดยให้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบจะเร่งแจกจ่ายบัตรสวัสดิการให้กับคนทั้ง 2 กลุ่มทันที เพื่อให้สามารถใช้ได้ทันภายในวันที่ 1ต.ค. นี้

        ทั้งสองโครงการประกอบด้วย โครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งครอบคลุมข้าราชการ 4.5 ล้านคน และโครงการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี2560 ครอบคลุมกลุ่มคนมีรายได้น้อยกว่า 14 ล้านคน

        สำหรับการจัดทำบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการนั้น มีเป้าหมายเพื่อควบคุมปัญหาการขอเบิกค่ารักษาพยาบาลซ้ำซ้อน หรือการสร้างข้อมูลส่งเบิกโดยที่ผู้มีสิทธิไม่ได้เข้ารับการรักษา และยังพบพฤติกรรมการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิและครอบครัวส่อไปในทางทุจริต แบบเวียนเทียนรับยาไปขายต่อ ซึ่งแต่ละปีมีงบประมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 4,000-5,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินในส่วนดังกล่าวถึงปีละ 70,000 ล้านบาท 

         กระทรวงการคลัง ได้เสนอของบประมาณมาใช้ในโครงการนี้ 124 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายการจัดทำบัตร ค่าจัดส่งบัตร พัฒนาระบบจ่ายตรง ระบบตรวจสอบค่าใช้จ่าย จัดตั้งคอลเซ็นเตอร์ และการประชาสัมพันธ์

        ส่วนการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น เป็นการทำบัตรสวัสดิการให้กับคนมีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนรับสวัสดิการของรัฐที่ได้เปิดให้มาลงทะเบียนก่อนหน้านี้ เพื่อให้รัฐมีฐานข้อมูลประชาชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสวัสดิการภาครัฐลงไปยังประชาชน โดยเสนอของบมาดำเนินโครงการ 1,581 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายการจัดทำบัตร ค่าพัฒนาโปรแกรม จัดตั้งคอลเซนเตอร์ และค่าบริหารจัดการบัตรในปีแรก เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถนำบัตรไปใช้แบ่งเบาภาระได้ทั้งการเดินทางรถเมล์ ขสมก. และบขส. สามารถซื้อสินค้าราคาถูกได้จากร้านธงฟ้า หรือใช้จ่ายเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาสำหรับผู้มีรายได้น้อยด้วย

        “ทั้ง2โครงการ จะออกมาเป็นบัตรที่มีใบหน้าข้อมูลของผู้ถือบัตรแสดงเอาไว้ เพื่อแสดงความถูกต้องในการใช้บริการ โดยตัวบัตรที่ใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลจะจัดส่งไปให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิเองตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ ส่วนบัตรสวัสดิการรัฐ จะมีตัวชิปอยู่2แบบ คือ ชิปแบบแตะกับเครื่องเหมือนกับที่ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อจะได้เข้าไปรับบริการขนส่งได้ทุกรูปแบบ ส่วนชิปอีกตัวจะเอาไว้ใช้กับการจ่ายค่าบริการด้านต่างๆ และจะมีแถบแม่เหล็กด้วย โดยบัตรนี้จะเชื่อมโยงกับตัวร่วมหรือบัตรแมงมุม อีกทั้งเมื่อใช้แล้วเงินในบัตรหมดก็สามารถเติมเงินได้อีกด้วย” นายณัฐพร กล่าว 

        สำหรับ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ได้เปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. -15 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 14,176,118 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ คาดว่าจะตรวจคุณสมบัติแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้

       สำหรับผู้มีสิทธิ์จะได้รับสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2560 ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้  1. มีสัญชาติไทย 2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยต้องเกิดก่อนวันที่ 16 พ.ค. 2542  3. ว่างงานหรือมีรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2559 ทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท

      4.ไม่มีหรือมีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร สลากออมสินสลาก ธ.ก.ส. พันธบัตร ตราสารหนี้ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง 5. ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายหรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

     กรณี ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน) หากเป็นกรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว  บ้านหรือทาวน์เฮ้าส์ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา และห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

      กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ และกรณีที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ และในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ