ข่าว

พรก.ต่างด้าวกระทบ“รับเหมา” อสังหาผวาถูกชาร์จค่าแรงเพิ่ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พรก.ต่างด้าวกระทบ“รับเหมา” อสังหาผวาถูกชาร์จค่าแรงเพิ่ม

              จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งบรรเทาปัญหาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยให้มีการชะลอใช้ 3 มาตราที่ว่าด้วยบทลงโทษ คือมาตรา 101 กรณีการเอาผิดลูกจ้าง มาตรา 102 เอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพพิเศษบางอย่างโดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 122 การรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน ซึ่งมีโทษหนักแก่นายจ้างหรือลูกจ้าง ขณะที่ภาคเอกชนยังคงออกมาระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

             นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างค่อนข้างมากเพราะ 90% ของแรงงานที่ใช้เป็นแรงงานต่างด้าว ทั้ง เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ลาว ประเมินว่าในภาคก่อสร้างมีแรงงานต่าวด้าวกว่า 3 แสนคน โดยหนึ่งโครงการก่อสร้าง เฉลี่ยจะต้องใช้แรงงาน 300-400คน ซึ่งแรงงานต่างด้าวมีทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

            “ในภาวะที่อุตสาหกรรมก่อสร้าง ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ก็จะทำให้ขาดแคลนแรงงานหนักขึ้น เห็นว่าอาจจะกระทบหนักโดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสูง ที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว ผูกเหล็ก เทปูน ฯลฯ”

            นายสังวรณ์ ยังระบุว่า ที่ผ่านมาขั้นตอนการขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวมีหลายขั้นตอน อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่นำแรงงานไปขึ้นทะเบียน อีกทั้งมองว่าเป็นต้นทุนเนื่องจากแรงงานต่างด้าวในภาคก่อสร้างมักเปลี่ยนบ่อย  

            นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า แม้พ.ร.ก.ดังกล่าวจะบังคับใช้แล้ว แต่เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเข้มงวดการดำเนินการรัฐควรกำหนดช่วงเวลา “ผ่อนปรน”การบังคับใช้กฎหมายออกไป 6 เดือนถึง 1 ปีเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวนอกจากนี้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมควรเพิ่มจำนวนสำนักงานแรงงานให้ทั่วถึง รองรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวให้รวดเร็วขึ้น

            “ยิ่งรัฐบาลมีแผนจะลงทุนโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าลงทุนรวมพูดกันที่หลักล้านล้านบาท จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวมาก หากกฎหมายนี้ทำให้แรงงานขาดแคลน จะทำอย่างไร เมื่อแรงงานมีปัญหาจะทำอย่างไร คนไทยเองมักไม่ทำอาชีพที่แรงงานต่างด้าวทำ ขณะที่ภาครัฐก็อยากยกระดับแรงงานไทยสู่ 4.0” 

           นายธีรพัฒน์ จิรพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเชียงใหม่ริมดอย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พ.ร.ก.ต่างด้าวฉบับใหม่ หากนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวจะกลายเป็นความเสี่ยงใหม่ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้น

              สำหรับการดำเนินงานของบริษัทพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวคิดเป็นสัดส่วน 80-90% อย่างไรก็ดี บริษัทได้เตรียมแผนรับมือไว้ โดยอาจจะคำนวณต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจาก พ.ร.ก.ฉบับใหม่ไปรวมกับการประมูลงานรับเหมาในครั้งหน้า 

            นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) คาดว่า พ.ร.ก.ต่างด้าว ฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตฯเกษตร ภาคการบริการ เช่น โรงแรม สถานีบริการน้ำมัน รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยแม้ว่าจะมีแรงงานต่างด้าวบางส่วนขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางส่วนยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือปฏิบัติตนขัดต่อกฎหมาย

              โดยเฉพาะการใช้แรงงานต่างด้าวข้ามเขต เนื่องจากภาคก่อสร้างยังมีความแตกต่างจากภาคอื่นๆ โดยเฉพาะการย้ายไซต์งานก่อสร้างไปตามโครงการต่างๆ แม้ว่าที่ผ่านมา ภาครัฐได้ผ่อนคลายค่าใช้จ่ายการแจ้งเคลื่อนย้ายแรงงานไซต์ต่อไซต์ แต่เพื่ออำนวยความสะดวกต่อทั้งผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว จึงอยากเสนอให้รัฐเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ แจ้งย้ายแรงงานข้ามเขตผ่านระบบออนไลน์ได้ อีกทั้งเห็นว่ากฎหมายใหม่ควรวางกฎเกณฑ์ต่างๆให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแรงงานต่างด้าวอาจเดินทางกลับประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้รับเหมาก่อสร้างในที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันแรงงานไทยมักไม่ทำงานประเภทนี้ ปัจจุบันกานดา พร็อพเพอร์ตี้ มีจำนวนแรงงานต่างด้าวกว่า 350 คน ซึ่งบริษัทได้พาไปขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วทั้งหมด 

           นายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) คาดว่า พ.ร.ก.ต่างด้าวที่ออกมาใหม่จะไม่ส่งผลกระทบภาพรวมอสังหาฯ นัก เนื่องจากโครงการที่จะเปิดใหม่ขณะนี้ยังมีไม่มาก ทั้งยังมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการจัดการให้แรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานถูกกฎหมายหรืออยู่ในระบบ

           “สำหรับภาพรวมของการบังคับใช้กฎหมายใหม่มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของแสนสิริ เนื่องจากบริษัทใช้รูปแบบว่าจ้างผู้รับเหมาทั้งหมด ซึ่งผู้รับเหมาก็จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการพาแรงงานขึ้นทะเบียน” 

          นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยกับพ.ร.ก.ต่างด้าว ที่บังคับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาฯมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องรอดูค่าใช้จ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยหากผู้รับเหมาเห็นว่าต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดก็จะเก็บ หรือชาร์จเพิ่มจากผู้ประกอบการอสังหาฯ ทั้งนี้ปัจจุบันเสนาฯมีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานกับบริษัทในระดับหลักร้อยคนในโครงการอสังหาฯต่างๆที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 

            นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้ความเห็นว่า พ.รก.ก.ที่กำหนดมานั้นค่อนข้างส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี อีกทั้งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวในหลากหลายธุรกิจ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรวิเคราะห์ส่วนได้และส่วนเสียให้สอดคล้องกับผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ

          “ส่วนตัวเห็นด้วยกับการบังคับใช้พ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงบริหารจัดการแรงงานให้อยู่ในระบบเพื่อสะดวกในการจัดการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ แต่จะต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่าการออกกฎหมายเช่นนี้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และหากมีผู้ได้รับผลกระทบมากก็ควรยืดหยุ่นหรือชดเชยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหาย”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ