ข่าว

"สมคิด"เร่งระบบราง5จังหวัดใหญ่ ประเดิม“ภูเก็ต-เชียงใหม่”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สมคิด"เร่งระบบราง5จังหวัดใหญ่ ประเดิม“ภูเก็ต-เชียงใหม่”

                  นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.60 โดยมีการติดตามความคืบหน้าระบบขนส่งทางรางในเมืองภูมิภาค มีประเด็นดังนี้ 

                 ภายหลังจากที่เร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและโครงการรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองในหลายรูปแบบ รัฐบาลได้หันมาเร่งโครงการรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่เพื่อแก้ปัญหาจราจรและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองใหญ่

                นายสมคิด ระบุว่าที่ประชุมคจร.รับทราบผลการศึกษาและรายงานความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทางรางในเมืองภูมิภาค ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ  จ.เชียงใหม่ จ.ภูเก็ต จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น และอ.เมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา

                นายสมคิด บอกว่าพอใจกับความคืบหน้าของโครงการทั้งหมด โดยภายในปี 2560 กระทรวงคมนาคมจะสามารถนำเสนอรายละเอียดโครงการระบบขนส่งสาธารณะทางรางของ จ.ภูเก็ต และ จ.เชียงใหม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้

                ส่วนโครงการของจังหวัดอื่นๆ คือ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น และอ.เมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา คาดว่าจะสามารถเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาได้ในปีหน้า 

                “โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือ “พีพีพี” ยกเว้นโครงการของ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีภาคเอกชนเสนอตัวเป็นผู้ลงทุนโครงการ ซึ่งก็ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปตรวจสอบดูความเหมาะสมว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่”

                สำหรับรูปแบบของการขนส่งระบบรางในเมืองภูมิภาคได้ให้แนวทางในการออกแบบระบบขนส่งทางรางว่าให้คำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพการจราจรและภูมิทัศน์การท่องเที่ยวซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งรูปแบบระบบรถไฟรางเดี่ยว (Monorail) หรือระบบรถรางที่ติดตั้งบนพื้น (Tram)

               ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษา ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้ดำเนินการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนพ.ค. 2560 โดยรูปแบบจะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือTramway) มูลค่าโครงการในระยะแรกช่วงจากท่าอากาศยานภูเก็ตถึงห้าแยกฉลอง อยู่ที่ 30,154 ล้านบาท ระยะทางรวม 41.7 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งระดับดิน ยกเว้นบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จะเป็นสถานียกระดับและมีทางลอดสำหรับ ระบบรถไฟฟ้า จำนวน 3 ทางลอด ตามแนวทางหลวงหมายเลข 402 มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง (บนถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ห่างจากห้าแยกฉลองประมาณ 200 เมตร) 

              โครงการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ได้ถูกบรรจุไว้ในโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 ของกระทรวงคมนาคม โดย รฟม. จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินโครงการแบบ PPP

             ที่ประชุมยังได้รับทราบผลความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา และเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีรายละเอียดดังนี้ 

             1.จ.ขอนแก่น สนข. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเส้นทางสายแนวเหนือ-ใต้ (สำราญ-ท่าพระ) ระยะทางประมาณ 2 .8 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาเป็นโครงการนำร่อง โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT)

             2.จ.เชียงใหม่ สนข. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดเชียงใหม่ โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์เปรียบเทียบ เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางในเขตเมืองระหว่างโครงข่ายทางเลือกแบบใช้ทางวิ่งบนดิน และใต้ดินร่วมกันกับแบบที่ใช้ทางวิ่งบนดินทั้งหมด จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 36 กิโลเมตร จำนวนสถานี 35 สถานี การศึกษามีความคืบหน้า 90% จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560

            3.จ.นครราชสีมา สนข. อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดนครราชสีมา โดยกำหนดแนวเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะไว้ 3  เส้นทาง โดยจะเร่งรัดการศึกษาให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 256๐

            4 .อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เป็นผู้ดำเนินการศึกษา โดยเส้นทาง ที่เหมาะสมคือสายคลองหวะ-สถานีรถตู้ เป็นรูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Mono Rail) ระยะทาง 12.54 กม. มีสถานีทั้งหมด 12 สถานี มูลค่าการลงทุน 16,100 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแก้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามความเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

            นายสมคิด บอกอีกว่าได้มอบหมายนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไปหารือกับกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ให้เร่งสรุปการพัฒนาสนามบินขนาดเล็กในภูมิภาคให้ชัดเจนโดยเร็วว่าแห่งใดจะเป็นการพัฒนาโดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ท.อ.ท.) หรือแห่งใดจะให้เอกชนเข้าไปพัฒนา เนื่องจากได้สั่งการเรื่องนี้ไปได้หลายเดือนแล้วแต่ยังไม่คืบหน้า 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ