ข่าว

ชงพื้นที่รอบ3ท่าเรืออีอีซี รับสิทธิประโยชน์บีโอไอ     

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชงพื้นที่รอบ3ท่าเรืออีอีซี รับสิทธิประโยชน์บีโอไอ           

                   นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ จะนำเสนอวาระพิจารณาหลัก คือ กำหนดให้พื้นที่โดยรอบ 3 ท่าเรือหลักในอีอีซี ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง,ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเต็มที่

                รวมถึงจะเสนอวางโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ในพื้นที่อีอีซี เพราะขณะนี้ยังไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ และระบบอื่นๆ เข้ามารองรับ ซึ่งหากทั้ง 2 โครงการนี้แล้วเสร็จ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ อีอีซี

                    ทั้งนี้ ในการประชุมยังจะติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญเร่งด่วนที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบินหลัก อู่ตะเภา,สุวรรณภูมิ และดอนเมือง ความคืบหน้าการดำเนินงานก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา อีกทั้งจะนำเสนอแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวในอีอีซี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งขณะนี้นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กำลังระดมสมองภาคเอกชนร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พัฒนายกระดับเมืองพัทยา และเมืองระยองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ

                 นอกจากนี้ จะรายงานความคืบหน้าในการดึงดูดโครงการลงทุนที่สำคัญเข้ามาในพื้นที่ อีอีซี ที่ได้ตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ จะต้องเห็นบริษัทชั้นนำของโลก 30 ราย เข้ามายื่นโครงการลงทุนในอีอีซี จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10 ราย ที่ตัดสินใจลงทุนแล้ว เช่น แอร์บัส ได้เข้ามาลงนามความร่วมมือกับการบินไทย ตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน และผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน คาดว่าต้นปีหน้าจะลงนามร่วมลงทุนได้ ขณะที่อาลีบาบาได้เตรียมจะเข้ามาลงทุนอีคอมเมิร์ชปาร์ค และศูนย์โลจิสติกส์ ซึ่งเบื้องต้นอยู่ระหว่างการหาพื้นที่สร้างอาคารขนาดใหญ่ 5 แสนตารางเมตร เพื่อดำเนินธุรกิจในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ปี

                 ส่วนบริษัทฮิราตะ ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมชั้นนำของญี่ปุ่น ก็ได้เข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยในอีอีซีแล้ว และในปีหน้าผู้ประกอบการไทย 5 ราย ก็จะลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อีกไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งยังมีบริษัทรถยนต์ชั้นนำอีกหลายรายเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และล่าสุด บริษัทโบอิง ก็ได้เข้ามาหารือสนใจที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และศูนย์ฝึกอบรม เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่บริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้เข้ามาลงทุนแล้ว กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อในอุตสาหกรรมไฮเทคเหล่านี้ก็จะทยอยเข้ามาลงทุนในไทย

                     นายคณิศ กล่าวว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กำลังพิจารณาออกหลักเกณฑ์การโครงการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามพ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะมีกองทุนสนับสนุน 1 หมื่นล้านบาท และยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี ซึ่งคาดว่า อาลีบาบา จะนำร่องเข้าขอรับการส่งเสริมตามพ.ร.บ.นี้ และน่าจะมีบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์อีกหลายราย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ