ข่าว

เตรียมรื้อแผนบริหารก๊าซ รับพลังงานทดแทน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เตรียมรื้อแผนบริหารก๊าซ รับพลังงานทดแทน

 

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาความร่วมมือด้านแอลเอ็นจีระหว่างประเทศนอร์เวย์และประเทศไทยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศ 80% ส่วนที่เหลือ 20-25% ต้องนำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) หรือมีการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งในอนาคตหากกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยลดลง อาจจำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่ม 

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)และพลังงานลม(วินด์ฟาร์ม)ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ความต้องการใช้ก๊าซฯเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักลดลง แต่ด้วยเทคโลยีปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถทดแทนพลังงานฟอสซิลได้ 100% ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลยังจำเป็น และแอลเอ็นจีเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด จัดหาง่าย และราคาไม่สูงเกินไป จึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆที่จะพิจารณา

“กระทรวงพลังงาน จึงอาจรับฟังข้อมูลจากนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจแอลเอ็นจี ที่จะช่วยประเมินถึงความต้องการใช้แอลเอ็นจีในอนาคต เพื่อที่กระทรวงฯจะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการปรับแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2558-2579 (Gas Plan2015)ในช่วงปลายปีนี้ให้เหมาะสมกับการใช้แอลเอ็นจีในอนาคต”

ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) กล่าวว่า ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางเปิดให้เอกชนมีการแข่งขันนำเข้าแอลเอ็นจี ตามแผน Gas Plan2015 ที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้แอลเอ็นจี อยู่ที่ 34 ล้านตันต่อปีในปี 2579 จากปัจจุบัน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) มีสัญญาจัดซื้อแอลเอ็นจีระยะยาว รวมอยู่ที่ 5.2 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น สัญญาซื้อขายจากกาตาร์ 2 ล้านตันต่อปี เชลล์ 1 ล้านตันต่อปี บีพี 1 ล้านตันต่อปี และปิโตรนาส อีก 1.2 ล้านตันต่อปี

ดังนั้น ในส่วนที่เหลือจะเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันในการจัดหาแอลเอ็นจี ตามนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติในประเทศ (Third Party Access Regime : TPA) ที่เปิดให้บุคคลที่สามสามารถใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีได้ จากปัจจุบัน ปตท.เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียว เบื้องต้น ภาครัฐได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ศึกษานำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาใช้บริการโครงการขยายกำลังการแปรสภาพแอลเอ็นจี ที่แอลเอ็นจี เทอร์มินอล มาบตาพุด ของ ปตท. เพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2562 ทำให้มีประสิทธิภาพรองรับแอลเอ็นจีสูงสุดรวมเป็น 11.5 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะแผน Gas Plan 2015 จะต้องทบทวนใหม่ แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับแอลเอ็นจี ตามแผนที่วางไว้ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งโครงการคลังแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 รองรับการนำเข้าแอลเอ็นจี ประมาณ 7.5 ล้านตันต่อปี ก่อสร้างเสร็จปี2565, การศึกษาความเป็นไปได้โครงการคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FSRU)ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ขนาด 3 ล้านตัน และศึกษาความเป็นไปได้โครงการ FSRU ที่เมียนมา ขนาด 3 ล้านตัน ของปตท. รวมถึงศึกษาโครงการ FSRU ขนาด 5 ล้านตัน ของ กฟผ.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และโฆษก กกพ. กล่าวว่า ขณะนี้ กลุ่มกัลฟ์ และ กฟผ. ได้เข้ามาหารือ กับ กกพ. เพื่อยื่นขอใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper)โดยกลุ่มกัลฟ์ได้จับมือพันธมิตร คือ มิตซุยในการที่จะนำเข้าแอลเอ็นจี และยังเป็นผู้ค้าปลีกก๊าซฯในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ซึ่งจะเจรจาซื้อก๊าซฯจาก ปตท.เพื่อไปบริการลูกค้าที่เข้ามาซื้อที่ดินในนิคมฯ ขณะที่ กฟผ. มีแผนใช้ก๊าซสำหรับโรงไฟฟ้าของตัวเอง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ