ข่าว

ชู3กลไกหลักมุ่ง‘ฮับดิจิทัล’ เร่งวางอินฟราฯ พื้นที่ ‘อีอีซี’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชู3กลไกหลักมุ่ง‘ฮับดิจิทัล’ เร่งวางอินฟราฯ พื้นที่ ‘อีอีซี’

 วันที่ 23 มิ.ย.60 ในงานเสวนา EEC พลังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ CLMV ครั้งที่ 2 จัดโดย เนชั่นทีวี พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวเปิดงานโดยวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงดีอี จะเน้นการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเอสเคิร์ฟ และนิว เอสเคิร์ฟ ซึ่งในส่วนที่เป็นดิจิทัล จะเน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชั่น โดยที่ผ่านมากระทรวงดีอีทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นสู่การเป็น “ASEAN DIgital Hub” เพื่อนำความแข็งแกร่งในทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งและกายภาพ ในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมของไทย มาเป็นปัจจัยสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคธุรกิจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนดิจิทัลของกระทรวงดีอีจะแบ่งเป็น 3 ด้าน 1.รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับโครงการเน็ตประชารัฐ โดยติดตั้งครบทั้งโครงการเน็ตประชารัฐ จะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศที่เป็นถนนดิจิทัล ผ่านระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงความยาวรวมกว่า 131,320 กิโลเมตร ไปตามหมู่บ้านที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตจำนวน 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งนี้ โครงการเน็ตประชารัฐจะสามารถกระจายให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านตามโครงการได้กว่า 370,000 ราย

2.กระทรวงดีอีได้เสนอแนวความคิดจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์) เพื่อสนองตอบการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ใน 2 นโยบายหลัก ได้แก่ นโยบายประเทศไทย 4.0 และนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของไทยเอง การประยุกต์ใช้ดิจิทัลในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

3.โครงการดิจิทัลชุมชน พัฒนาดิจิทัลชุมชนระดับหมู่บ้านเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ผ่านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อาศัยศักยภาพ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่มีเครือข่ายสาขาที่ทำการไปรษณีย์กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 5,000 แห่ง มีเครือข่ายเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ทั่วประเทศกว่า 2.5 หมื่นคน มีเครือข่ายเส้นทางการขนส่งไปรษณีย์ มากกว่า 400 เส้นทาง ร่วมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 24,700 หมู่บ้าน ตามโครงการเน็ตประชารัฐ

ด้าน มีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การพัฒนาและผลักดันให้ไทยไปสู่เป้าหมายตามที่ตั้งเป้า แน่นอนว่าต้องลงทุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การลงทุนระบบสื่อสารโทรคมนาคม และดาต้า เซ็นเตอร์ ในส่วนของดีป้าอยากเห็นเรื่องการดำเนินการของภาคธุรกิจ การดึงดูดนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ สนับสนุนเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การให้บริการแบบวันสต๊อปเซอร์วิส ความสะดวกในการของวีซ่า และใบอนุญาตการทำงานของชาวต่างชาติ

 เลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายประสานงานภาครัฐ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ถือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพาประเทศเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐในแง่การเปิดโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศ ผ่านการกำหนดแผนจัดสรรคลื่นความถี่ เพราะสิ่งเหล่านี้คือจุดแข็งที่ที่ทำให้ไทยสามารถมีเครื่องมือที่เป็นจุดเด่นในการให้ไทยเป็นฮับด้านดิจิทัล 

โดยต่างประเทศมีการใช้คลื่นความถี่มากถึง 2,000 เมกะเฮิรตซ์ แต่ในไทยแม้จะมีปริมาณความต้องการใช้งานมากเพียงใด แต่ก็ยังมีคลื่นความถี่ให้ใช้งานเพียง 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งภาครัฐสามารถผลักดันให้เกิดการนำคลื่นความถี่มาใช้ได้ทั้งในคลื่น 700, 850, 1800, 2300 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์

สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลประสบความสำเร็จ คือ ทั้งเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในเมืองและชนบทที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร สำหรับเป้าหมายที่วางไว้คือคนไทยทุกคน ทุกพื้นที่ จะต้องได้รับการเชื่อมต่ออย่างเท่าเทียม และต้องมีความปลอดภัย ขณะที่ประชาชนจะต้องมีความรู้และทักษะเชิงดิจิทัลสำหรับประกอบวิชาชีพและดำรงชีวิต

ส่วนนายยุทธศาสตร์ นิธิไพจิตร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีศูนย์ข้อมูล บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจทำให้ไทยไม่สามารถเป็นฮับทางดิจิทัลได้ คือ 1.โอกาสทางธุรกิจ 2. ค่าใช้จ่าย และ 3.ความเสี่ยงในประเด็นกฎหมาย รวมถึงความปลอดภัยข้อมูล ปัญหาเหล่านี้ทำให้ถูกคู่แข่งแย่งพื้นที่การเป็นดิจิทัลฮับไป

ปฐม อินทโรดม ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ประเมินว่า ขณะนี้ภาคเอกชน ยังขาดความพร้อมหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรไอที ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรอยู่จำนวนมาก ทว่าไม่ตอบโจทย์ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ คือ คนไทยไม่มีความพร้อม ไม่สามารถต่อยอดนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ

ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี มีมุมมองว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี ของรัฐบาลนับว่ามาถูกทาง ทุกวันนี้โลกเปลี่ยน ถูกพลิกโฉมโดยดิจิทัล ภาคธุรกิจต่างได้รับผลกระทบ แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้ฐานรากประเทศไทยยังไม่ดีพอ ประเด็นที่สำคัญที่สุดต้องพัฒนาคน เรื่องนี้อย่างต่ำต้องใช้เวลาเกิน 10 ปี ขณะที่การพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์รองรับช่วยได้ส่วนหนึ่ง

ศุภรัตน์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยี บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด มีมุมมองว่า โอกาสเกิดดิจิทัลพาร์ค มีอยู่สูง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกหันมาเน้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนที่ไม่แพงมาก เป็นประเทศที่เปิดรับการใช้งานเทคโนโลยี

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนอันดับแรกต้องมีความชัดเจนกับโจทย์ที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นความหมายคำจำกัดความ บทบาท และการวัดความสำเร็จ จะแข่งขันได้นโยบายภาครัฐต้องเอื้อ บริหารจัดการจุดแข็ง ลดจุดอ่อน ไม่ใช่มุ่งไปแข่งกับสิงคโปร์ แต่ร่วมกันพัฒนาให้เติบโตไปทั้งอีโคซิสเต็มส์

ขณะที่ ปวิช ใจชื่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและภาครัฐ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ทำงานอย่างเป็นอีโคซิสเต็มส์ ผลักดันให้นักศึกษา แรงงานเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมใช้ให้เกิดประโยชน์จริง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ