ข่าว

 ‘โตโยต้า'เข็นไฮบริดลงอีอีซี 'โบอิง’ยึดอู่ตะเภาศูนย์ซ่อม 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ‘โตโยต้า'เข็นไฮบริดลงอีอีซี 'โบอิง’ยึดอู่ตะเภาศูนย์ซ่อม 

  

             นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) กล่าวในงานการสัมมนา “EECพลังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ CLMV” ว่า โครงการพัฒนา อีอีซี จะพัฒนาเมืองหลักสำคัญในภาคตะวันออก  รองรับการลงทุน โดยเมืองพัทยา จะพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ และเป็นศูนย์การประชุม และจัดแสดงสินค้านานาชาติ รวมทั้งเป็นศูนย์บริการการแพทย์นานาชาติ เมืองการบินอู่ตะเภา จะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์ธุรกิจการบินและโลจิสติกส์ เป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคเมืองฉะเชิงเทรา เป็นเมืองที่พักอาศัยที่ทันสมัยรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ และอีอีซี เมืองระยอง จะเป็นเมืองการศึกษาและวิทยาศาสตร์ และเมืองนานาชาติ ธุรกิจทันสมัย

             การลงทุนใน อีอีซี ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนจะมีไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีแรก เป็นการพัฒนาเมืองใหม่ 4 แสนล้านบาท พัฒนาการท่องเที่ยว 2 แสนล้านบาท การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3.53 หมื่นล้านบาท รถไฟรางคู่ 6.43 หมื่นล้านบาท รถไฟความเร็วสูง 1.58 แสนล้านบาท พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่า 8.8 หมื่นล้านบาท พัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่า 1.015 หมื่นล้านบาท และพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา 2 แสนล้านบาท 

              นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศท่ามกลางนักลงทุนต่างชาติอย่างชัดเจนว่านโยบาย อีอีซี จะไม่เปลี่ยนแปลงไปอีก 20 ปี จะมีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมารองรับ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในโครงการนี้

             “หลังจากที่ไทยลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อปี 1980 ต่อมาลงทุนสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ  แต่หลังจากนั้นไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นเลยจนมาถึงอีอีซี ขณะนี้ ดังนั้นอีอีซี จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน และการพัฒนาประเทศที่สำคัญในอนาคต  เอกชนพร้อมสนับสนุนรัฐบาลเต็มที่”

                สำหรับพื้นที่อีอีซี โตโยต้า มีโรงงานอยู่ 2 โรง ผลิตรถยนต์คิดเป็น  70% ของการผลิตรถยนต์โตโยต้าทั้งหมดในไทย และผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างก็อยู่ในพื้นที่ ปัจจุบันโตโยต้าใช้กำลังการผลิตของโรงงานประมาณ 70% ยังเหลือการผลิตอีก 30%  

                โตโยต้ามีแผนที่จะขยายการลงทุนผลิตรถยนต์ไฮบริดในพื้นที่ อีอีซี  อยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ ทั้งนี้เนื่องจากผลการวิจัยของสถาบันชั้นนำต่างชาติ ได้ประเมินว่าอีก 10 ปี ยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกจะเป็นรถยนต์ไฮบริดจ์สูงถึง 80%

                  “โตโยต้ามีแผนที่จะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาวิ่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยล็อตแรก 30 คัน  จะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเช่าไปทดลองวิ่ง คิดค่าบริการนาทีละ 1 บาท เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสสร้างความคุ้นเคยในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า  ยังเป็นการทดสอบประสิทธิภาพรถยนต์ไฟฟ้าในสภาพภูมิอากาศของเมืองไทย ”

               นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะตั้งบริษัทกำจัดซากรถยนต์ ที่จ.ชลบุรี เดือนต.ค.นี้ เพื่อให้ความรู้และกำจัดซากรถยนต์เก่าได้ถูกต้อง รวมทั้งรองรับการกำจัดรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการถอดแยกชิ้นส่วนรีไซเคิลของรถยนต์ไฟฟ้า ต้องมีความเชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม  

                 นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนานิคมฯใน อีอีซี จะเน้นการรวมกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรม เพื่อออกแบบระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รองรับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหากมีการลงทุนอุตสาหกรรมตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาทจะใช้พื้นที่ตั้งโรงงานประมาณ 5 หมื่นไร่ ภายใน 5 ปี ซึ่งกนอ.ต้องหาพื้นที่รองรับในอีอีซี มีพื้นที่นิคมฯที่พร้อมให้ผู้ประกอบการเข้ามาตั้งโรงงานทันที 1.2 หมื่นไร่ อยู่ระหว่างพัฒนา 8,000ไร่ และกำลังหาพื้นที่เพิ่มอีก 1 หมื่นไร่

                “แนวทางการสร้างนิคมฯสมัยใหม่ เป็นการรวมอุตสาหกรรมในคลัสเตอร์เดียวกันเข้ามารวมกลุ่มกัน เพื่อออกแบบระบบสาธารณูปโภคต่างๆรองรับได้ตรงกับความต้องการไม่เพียงแต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ แต่ยังช่วยให้การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพสูงสุด” 

                   นอกจากนี้ กนอ. ยังได้ศึกษาที่ตั้งนิคมฯบริการซึ่งจะอยู่ในสมาร์ทซิตี้ที่มีพื้นที่ 1.1 พันไร่ ภายในนิคมฯมาบตาพุดจะให้บริการด้านโลจิสติกส์ต่างๆ คลังสินค้า ห้องเย็นขนาดใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับโรงงานต่างๆในอีอีซี และเกษตรกรในพื้นที่ ยังมีแผนที่จะร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) พัฒนานิคมฯดิจิทัล ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในการสร้างนิคมฯแนวดิ่ง หรือคอนโดมิเนียม สำหรับภาคอุตสาหกรรม รองรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก อุตสาหกรรมดิจิทัลใช้พื้นที่ตั้งโรงงานไม่มาก เหมาะที่จะนำมาอยู่รวมกันในอาคารแนวดิ่ง มีระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางที่ออกแบบขึ้นมารองรับโดยเฉพาะ

                 นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่าขณะนี้นักลงทุนที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในอีอีซี ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และมีศักยภาพการผลิตเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆยังมีไม่มาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงต้องใช้เวลา

             แม้ว่าอีอีซี จะมีความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน และต่างชาติสนใจมากที่จะเข้ามาลงทุน แต่ยังมีปัญหาสำคัญที่ไทยต้องเร่งแก้ไขคือการสร้างคนขึ้นมารองรับ ขณะนี้ขาดแคลนทั้งจำนวน และบุคลากรที่จบออกมาก็ไม่ตรงกับที่โรงงานต้องการรัฐบาลจึงต้องใช้มาตรา44 เปิดทางให้มหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งสถาบันการศึกษาภายในพื้นที่อีอีซี ได้ โดยไม่ต้องให้คนไทยถือหุ้นเกินกว่า 50% เพื่อดึงดูดให้มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเข้ามาตั้งสาขาได้ง่ายขึ้นเพื่อเข้ามาผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีชั้นสูงรองรับอุตสาหกรรมชั้นสูงในอีอีซี 

                  ขณะเดียวกันวานนี้(23 มิ.ย.)นาย Ralph L. (Skip) Boyce ประธานบริษัท โบอิง เซาท์อีส เอเชีย เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังการเข้าพบนายสมคิดกล่าวว่า โบอิงสนใจลงทุนในไทย ในการพัฒนาศูนย์กลางด้านการบินสนใจทำโครงการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบทางการบิน รวมทั้งการลงทุนตั้งศูนย์ฝึกอบรมนักบิน เพื่อป้อนให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ไม่เฉพาะแต่ไทย โดยสนใจพื้นที่บริเวณสนามบินอู่ตะเภาการเข้ามาลงทุนของโบอิงครั้งนี้จะไม่ทับซ้อนกับแอร์บัส

                   “ เมื่อเร็วๆนี้เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้นำคณะนักธุรกิจสหรัฐ-อาเซียนมาไทยทุกคนรู้สึกตื่นเต้นที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ได้เชิญนายกรัฐมนตรี ไปเยือนสหรัฐการเยือนสหรัฐครั้งนี้คณะของนายกรัฐมนตรีจะได้นำคณะนักธุรกิจไทยไปพบปะกับนักธุรกิจของสหรัฐด้วย 

                   ขณะที่นาย Ralph L. (Skip) Boyce ประธานบริษัทโบอิง เซาท์อีส เอเชียระบุว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน มีโอกาสอย่างสูงมาก ทางโบอิงจึงพิจารณาที่จะเข้ามาลงทุนในไทย จากที่ปัจจุบันได้ลงทุนหลายประเทศในภูมิภาคนี้แล้ว

                    “ถ้าโบอิงไม่มาจะเหมือนการพลาดโอกาส” จึงตัดสินใจในเร็วๆ นี้ สำหรับลูกค้ารายใหญ่ของโบอิง ในปัจจุบันคือบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) หากสายการบินอื่นสนใจโบอิงก็สนใจเหมือนกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ