ข่าว

กรมเชื้อเพลิงฯจ่อดึง7ผู้ผลิตปิโตรฯทับพื้นที่สปก.กลับมาทบทวน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมเชื้อเพลิงฯจ่อดึง7ผู้ผลิตปิโตรฯทับพื้นที่สปก.กลับ หลังประกาศม.44

 นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่ากรมฯรอประกาศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ออกคำสั่งตามมาตรา 44 อย่างเป็นทางการ ในการปลดล็อคการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม,การติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และการทำเหมืองแร่ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วบนที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ให้สามารถทำต่อไปได้ โดยไม่ถือว่าขัดกับวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 ทันทีที่คำสั่งมาตรา44 มีผลบังคับใช้ กรมฯก็จะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมทั้ง7 บริษัท ที่ต้องหยุดดำเนินการสำรวจแลผลิตปิโตรเลียมไปตั้งแต่วันที่3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้กลับมาดำเนินการได้ ซึ่งผู้รับสัมปทานดำเนินการตามขั้นตอนการกำหนดพื้นที่และการยื่นขอใช้พื้นที่ ส.ป.ก.เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมในที่ส.ป.ก. ซึ่งจะแจ้งวิธีการปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามที่ส.ป.ก. ได้เสนอให้ผู้ประกอบการต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อเกษตรกรรมเพิ่มเติม จากเดิมที่จ่ายผลประโยชน์โดยตรงให้เกษตรกร การทำกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR)การจ่ายค่าภาคหลวง และการจัดสรรกระจายรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

ทั้งนี้ ตามหลักการเดิมผู้รับสัมปทานต้องจ่ายค่าใช้พื้นที่กับส.ป.ก.ในอัตรา 20% ของราคาประเมินที่ดินจากรมธนารักษ์  หากมีประกาศของส.ป.ก.ใหม่ ให้จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ต้องดูว่าจะปรับสัดส่วนจาก 20% หรือไม่ ในหลักการใช้พื้นที่ส.ป.ก.จะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยขั้นตอนขอใช้พื้นที่จะเริ่มจากผู้รับสัมปทาน ต้องเจรจากับเจ้าของพื้นที่ ที่ได้รับสิทธิ์จากส.ป.ก. และเกษตรกรต้องคืนพื้นที่ให้ส.ป.ก. เพื่อให้สิทธิ์กับกรมฯเปิดให้เอกชนเข้ามาสำรวจปิโตรเลียมได้ แต่เอกชนต้องเพิ่มการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ นอกจากเหนือจากค่าภาคหลวง รวมทั้งการจ่ายให้ อบต. และการทำ CSR

ส่วนกรณี ที่ส.ป.ก. ระบุว่าอาจจะเก็บเงินชดเชยจาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในแหล่งเอส 1 ในการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ตั้งแต่ปี 2524 ในอัตรา20% ของเงินประเมินกรมธนารักษ์  เป็นเงิน 20 ล้านบาทนั้น  หารือกันเมื่อ2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น อัตราใหม่จะเป็นอย่างไร  ต้องรอ ส.ป.ก.กำหนดอีกครั้ง จะเป็นอัตราที่ใช้กับทุกราย รวมไปถึงการประกาศให้เอกชนเข้ามาแข่งขันยื่นเสนอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่  

สำหรับความเสียหายจากมูลค่าปิโตรเลียมที่หายไปตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา จนกว่าที่ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมจะกลับมาผลิตในอัตราเดิมคง กรมฯคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลา1เดือน หรือ50 วัน จึงจะ กลับมาผลิตได้ในอัตราเดิม เป็นมูลค่าปิโตรเลียมที่หายไปกว่า 1 พันล้านบาท,ค่าภาคหลวงที่หายไป 125 ล้านบาท และรายได้ที่ส่งเข้าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 60% หายไป 75 ล้านบาท

“การหยุดผลิตของ 7 บริษัท ในพื้นที่คาบเกี่ยว ส.ป.ก.ประมาณ 4,000 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 3-23 มิ.ย. รวม 20 วัน เกิดความเสียหายจากการหยุดผลิตปิโตรเลียม มูลค่า  950 ล้านบาท และกว่าอัตรากำลังผลิตจะทยอยกลับมาเท่าเดิมต้องใช้เวลาอีก 1 เดือน ทำให้มูลค่าความเสียหายรวมกว่า1,000 ล้านบาท” นายวีระศักดิ์ กล่าว

กรมฯ จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้แหล่งสัมปทานของ 7 บริษัท ที่ได้รับผลกระทบกลับมาดำเนินการผลิตโดยเร็ว โดยเฉพาะแหล่งเอส1 ของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด ที่ปัจจุบันอยู่ในช่วงระยะที่ 2 คือต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือในการอัดฉีดน้ำเพื่อนำน้ำมันดิบขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งหากหยุดผลิตนานๆจะส่งผลต่อการผลิตน้ำมัน โดยปกติแหล่งเอส 1 มีกำลังการผลิต 2.8 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันลดลงเหลือ 1.2-1.3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน 

นายวีระศักดิ์ ยืนยันการหยุดผลิตปิโตรเลียม จะไม่มีผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำมัน เนื่องจากโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมัน มีการสำรองน้ำมันตามกฎหมายไว้กว่า 20 วัน หากคำสั่ง ม.44 ประกาศใช้ ผู้รับสัมปทานจะเริ่มเข้าไปทยอยผลิตน้ำมันจนเข้าสู่อัตราปกติได้ 

ขณะเดียวกันความต้องการใช้น้ำมันในประเทศช่วงนี้ลดลง  จะไม่ผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมัน ยกเว้นผู้ประกอบการน้ำมันที่คาดว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เพราะแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ เป็นน้ำมันคุณภาพสูง การหาน้ำมันมาทดแทนในโรงกลั่นจึงมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ส่วนการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กรมฯ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเปิดสำรวจในพื้นที่ ส.ป.ก. แต่หากเลี่ยงไม่ได้เพราะมีแหล่งปิโตรเลียมอยู่ ก็ต้องดำเนินการตามกฎระเบียบที่ออกมานี้  เชื่อว่าเป็นเรื่องดีเพราะกระบวนการสำรวจปิโตรเลียมในอนาคตจะมีความชัดเจนขึ้น 

สำหรับผู้รับสัมปทานฯ7บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แหล่งสิริกตติ์ 2.ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย3.บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์4.บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี5.บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์6.บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ต แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก7.บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์  ผลจากการหยุดดำเนินการกระทบกำลังผลิต น้ำมันดิบลด16,000บาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติลด110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว ลด100บาร์เรลต่อวัน 

ส่วนกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา เรื่องพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/065/32.PDFและพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/065/42.Pนับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับกฏหมาย 2 ฉบับที่จะมีผลบังคับใช้ได้

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ไป กรมฯจะทยอยนำกฏหมายลูก 6 ฉบับ ทั้งระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบสัญญาจ้างบริการ (เอสซี ) รวมถึงกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดประมูลแหล่งก๊าซปิโตรเลียมที่จะหมดอายุปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากเห็นชอบก็จะประกาศทีโออาร์ทันที  ขั้นตอนต่างๆยังเป็นไปตามกรอบเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำหนดไว้ คือประกาศเปิดประมูลช่วงในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ และคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ภายในเดือนก.พ. 2561

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ