ข่าว

กฟผ.เปิดเอกชน ร่วมทุนพลังงาน  2 พันเมกะวัตต์     

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กฟผ.เปิดเอกชน ร่วมทุนพลังงาน  2 พันเมกะวัตต์     

 

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี  รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมหารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ของ กฟผ. 2,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีเอกชนหลายรายแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ส่วนการลงทุนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์)บนทุ่นลอยน้ำ กฟผ.น่าจะเป็นผู้ลงทุนหลัก เพราะมีต้นทุนสูงกว่าการติดตั้งโซลาร์บนพื้นดิน ประมาณ10% หรืออยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

เบื้องต้น หากจะเปิดใช้เอกชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว กฟผ.มองว่า สามารถใช้ช่องทางของ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ได้ ซึ่งตามหลักการของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กฟผ.จะต้องประกาศโครงการฯ เพื่อให้เอกชนที่สนใจมายื่นข้อเสนอ แล้วเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก ผู้ที่ใช้ผลตอบแทนการลงทุนที่เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานการลงทุนของ กฟผ. ที่ป็นอัตราผลตอบแทนของกิจการ(ROIC) 

“ในแต่ละปี กกพ.จะเป็นผู้กำหนดอัตราและกฟผ.ต้องคำนวนผลตอบแทนไม่ให้สูงกว่าอัตราดังกล่าว ฉะนั้นเอกชนที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องยอมรับผลตอบแทนในอัตราดังกล่าว”

นอกจากนี้ เอกชนอาจเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบโครงการประชารัฐ เช่น มีภาคเอกชนบางรายเสนอทำโครงการเกษตรสมัยใหม่ โดยปลูกพืชโตเร็ว ซึ่งการทำเกษตรสมัยใหม่ อาจจะต้องใช้ไฟฟ้าควบคุมความร้อนและปรับสภาพแสงในการปลูกพืชโตเร็ว และนำพืชที่ปลูกมาใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อทำเกษตรสมัยใหม่และส่วนที่เหลือส่งขายเข้าระบบของกฟผ. 

“ตามหลักการเดิมรัฐให้ กฟผ.เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด 2,000 เมกะวัตต์ แต่หากจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโดยใช้หลักการพ.ร.บ.ร่วมทุนฯและโครงการประชารัฐนั้น จะต้องหารือในรายละเอียดกับ กกพ.ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องใหม่ เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ชัดเจนไปเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาอีกครั้ง” นายสหรัฐ กล่าว

ทั้งนี้ กฟผ.เตรียมนำแผนลงทุนพลังงานหมุนเวียน 2,000 เมกะวัตต์ ช่วงปี 2558-2579 วงเงินลงทุน 1.5 แสนล้านบาท เสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาภายในเดือนก.ค.นี้ โดยการลงทุนตามแผนนี้แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์) 900 เมกะวัตต์ คิดเป็น 45.4% ชีวมวล 598 เมกะวัตต์ คิดเป็น 29.5% พลังงานลม 230 เมกะวัตต์ คิดเป็น 11.5 % พลังน้ำขนาดเล็ก 165 เมกะวัตต์ คิดเป็น 8.2 % ขยะ 50 เมกะวัตต์ คิดเป็น 2.5% ก๊าวชีวภาพ 56 เมกะวัตต์ คิดเป็น 2.8% และพลังงานความร้อนใต้พิภพ 2 เมกะวัตต์ คิดเป็น 0.1% 

นายสหรัฐ กล่าวว่า ส่วนโครงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) กฟผ.เตรียมเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประกวดราคาติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน ใน 2 พื้นที่ คือ สถานีไฟฟ้าบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 16 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 21 เมกะวัตต์ 

ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา(TOR) คาดว่าจะสามารถเปิดขายทีโออาร์ได้ในเดือนส.ค.นี้ และได้ผู้รับเหมาภายในเดือนมี.ค.ปี2561 และก่อสร้างเสร็จเดือนมี.ค.ปี2562 คาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง(MWh) ประมาณ 40 ล้านบาท เบื้องต้น มีผู้ผลิตระบบกักเก็บพลังงานจากต่างประเทศสนใจ 3-4 ราย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป 

นายพฤหัส วงศ์ธเนศ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดอัตราระบบสำรองไฟฟ้า(Backup Rate)ที่เหมาะสมแบบรายเดือนสำหรับกลุ่มบ้านเรือนและกลุ่มโรงงาน ที่ติดตั้งพลังงานทดแทนใช้เอง โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) เนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองช่วงกลางวันและซื้อไฟฟ้ารัฐใช้ในช่วงกลางคืน ส่งผลให้ยอดใช้ไฟฟ้าโดยรวมลดลง ทำให้ผู้ร่วมหารค่าไฟฟ้าทั้งประเทศลดลงซึ่งจะเป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป หากกลุ่มผลิตไฟฟ้าใช้เองเติบโตเพิ่มขึ้น

เบื้องต้น ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองจะต้องเสียค่าชาร์จไฟฟ้า Backup Rate ประมาณ 100-200 บาทต่อเดือน เพื่อความเป็นธรรมกับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าปกติ โดยเงินที่เรียกเก็บจะนำมาช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าปกติทั่วไป 

“การเรียกเก็บค่าBackup Rate ที่ชัดเจนยังต้องรอ กกพ.พิจารณาตัวเลขที่เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ภายใน 2-3 เดือนนี้”

ทั้งนี้ กฟผ.ได้ศึกษาตัวอย่างจากประเทศสหรัฐ ซึ่งมีการเก็บค่า Backup Rate ใน 50 รัฐ อัตราเฉลี่ยภาคครั้วเรือนอยู่ที่ 3 - 10 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือประมาณ 300-400 บาทต่อเดือน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ