ข่าว

ส.อ.ท.เตรียมลดเป้ายอดขายรถยนต์ หลังยอดส่งออก 5 เดือน ลดลง 9%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส.อ.ท.เตรียมลดเป้ายอดขายรถยนต์ หลังยอดส่งออก 5 เดือน ลดลง 9%

 นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าจากการประเมินยอดขายรถยนต์ของไทยในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.) ในส่วนของตลาดส่งออกลดลงมาก คาดว่าทั้งปีจะมียอดส่งออกเพียง 1.1 ล้านคัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.2 ล้านคัน 

อย่างไรก็ตาม จะขอดูตัวเลขของเดือนมิ.ย.ก่อน ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จึงจะสรุปได้ว่าจะปรับลดเป้าหมายหรือไม่ ส่วนยอดขายในประเทศ คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8 แสนคัน ส่งผลให้ยอดขายรวมของรถยนต์ในปีนี้ ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 ล้านคัน โดยคาดว่าจะมีจำนวน 1.9 ล้านคัน ใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีจำนวน 1.95 ล้านคัน

ทั้งนี้ ยอดการส่งออกรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-พ.ค.) มียอดส่งออกที่ลดลง โดยมีจำนวนรวม 443,320 คัน ลดลง 9.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกรถกระบะ 230,175 คัน ลดลง 8.52%รถยนต์นั่ง 170,762 คัน ลดลง 3.69%และรถพีพีวี 42,383 คัน ลดลง 28%

ส่วนรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 378,252 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.13%มีมูลค่า 23,823 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.39%เนื่องจากในกลุ่มรถจักรยานยนต์ได้ปรับฐานไปสู่การผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น อย่างไรก็ตามจากตัวเลขการส่งออกที่ลดลงในทุกกลุ่ม ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีมูลค่า 369,051 ล้านบาท ลดลง5.46% 

สำหรับยอดการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ลดลง ได้แก่ ตลาดเอเชีย ลดลง 8.79%ตะวันออกลาง ลดลง 49.93%แอฟริกา ลดลง 18.87%ยุโรป ลดลง 6.14%อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ลดลง 6.37%โดยตลาดที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ตลาดตะวันออกกลาง เพราะมียอดส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ในปี 2558 มียอดส่งออกไปตะวันออกกลาง 25%แต่ในปัจจุบันเหลือประมาณ 8%เนื่องจากมีนโยบายลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมขึ้นอัตราภาษีในรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูง ทำให้ยอดขายรถกระบะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลลดลงไปมาก ส่วนตลาดอื่นๆที่ลดลงมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และค่ายรถยนต์ก็เข้าไปตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคต่างๆเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดที่มียอดส่งออกเพิ่มขึ้น มี 2 ภูมิภาค ได้แก่ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้น4.77%และอเมริกาเหนือ เพิ่มขึ้น 29.02%

“จากยอดส่งออกที่ลดลงในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทำให้คาดว่ายอดการส่งออกในปีนี้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.2 ล้านคัน โดยคาดว่าจะส่งออกได้เพียง 1.1 ล้านคัน ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.18 ล้านคัน เนื่องจากตลาดหลักในหลายประเทศมียอดสั่งซื้อลดลง” 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่าเป็นที่น่าสังเกตว่ายอดการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อป้อนให้กับโรงประกอบในต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 9%และยอดส่งออกอะไหล่รถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 26.59%สะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยสามารถยืนได้บนขาของตัวเองไม่ต้องพึ่งพาการขายให้กับบริษัทรถยนต์เพียงอย่างเดียว 

ยอดส่งออกชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากค่ายรถยนต์ได้เข้าไปตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในภูมิภาคต่างๆเพิ่มขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านภาษีและค่าขนส่ง ทำให้นำเข้าชิ้นส่วนจากไทยเพิ่ม ส่วนยอดส่งออกอะไหล่ที่เพิ่มขึ้นมาจากปริมาณรถยนต์ในตลาดโลกมีเพิ่มขึ้นมาก และที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซา ทำให้ผู้บริโภคยืดอายุการใช้งานรถยนต์ออกไป มีการซื้อรถยนต์คันใหม่น้อยลง 

นายสุรพงษ์ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 340,179 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.4%คาดว่าในปี 2560 จะมียอดขายตรงตามเป้าที่ตั้งไว้ 8 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 768,788 คัน 

ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 773,748 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.6%โดยยอดขายภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 

ด้าน นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. และที่ปรึกษาบริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของการปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฮบริดลงจะทำให้ราคารถยนต์ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริดลดลง 10-20%จนมีราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ไฮบริดจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะจูงใจให้บริษัทผลิตรถยนต์เข้ามาลงทุนในสายการผลิตรถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด และไฟฟ้าของรัฐบาลเดินมาถูกทาง เพราะแนวโน้มตลาดโลกมีความต้องการรถยนต์ที่ลดการปล่อยมลพิษมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าภายใน 10 ปี ข้างหน้า ยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฮบริดกว่า 80%ซึ่งการที่ไทยเริ่มพัฒนาในด้านนี้ก่อนคู่แข่งอื่นๆ ก็จะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยสูงกว่าคู่แข่งในอนาคต 

“ยอดขายรถยนต์ไฮบริดที่เพิ่มขึ้น จะทำให้มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าหลักๆเช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ทยอยเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ไทยก้าวไปสู่ผู้นำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้”

นายศุภรัตน์ กล่าวว่ารัฐบาลจะต้องเร่งสร้างสถานีชาร์จให้ได้ตามแผน ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น เพราะเทคโนโลยีในขณะนี้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปจะวิ่งได้ประมาณ 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ทำให้ไม่สะดวกในการนำมาใช้งานจริง เช่น การวิ่งไปพัทยามีระยะทาง 140 กิโลเมตร ทำให้วิ่งไปได้อย่างเดียวไม่มีไฟฟ้าเหลือวิ่งกลับ หากมีสถานีชาร์จตามรายทาง ผู้บริโภคจะมั่นใจใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ