ข่าว

กสอ.เปิดตัว 5 แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนช่วยการตลาดเอสเอ็มอี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กสอ.เปิดตัว 5 แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนช่วยการตลาดเอสเอ็มอี

                ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มีการพัฒนา แอปพลิเคชันเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ประกอบการในยุคที่ระบบ 4G กำลังครอบคลุมวิถีชีวิตและการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยได้พัฒนาให้สามารถใช้งานได้ทั้งบนสมาร์ทโฟนหรือแท๊บเล็ตได้อย่างรวดเร็ว สะดวก เรียบง่าย และมีทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในปี 2560 นี้ได้จัดทำ 5 แอปพลิเคชันเพื่อเป็นตัวช่วยให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่ Money Flow Application ระบบควบคุมการรับและจ่ายเงินสด และกระแสเงินสด Billing FlowApplication ระบบขายและออกบิลสำหรับร้านค้าที่ซื้อมาขายไป Stock Flow Application ระบบความคุมสต็อกสินค้า สำหรับธุรกิจที่ซื้อมาขายไป DIP Business Evaluation Application แอปพลิเคชันสำหรับประเมินผลการดำเนินงานและผลประกอบการธุรกิจ SMEs DIP Business Plan Application ระบบการจัดทำแผนธุรกิจสำหรับธุรกิจการผลิตรายย่อย โดยทั้ง 5 แอปพลิเคชันที่กล่าวมานี้จะเป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในด้านระบบบัญชีและการเงินให้มีความต่อเนื่องในทุกสถานการณ์ ลดความล่าช้าและความซับซ้อนที่เกิดขึ้นประจำวัน เพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในระบบบัญชีและการเงินได้มากขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ 5 แอปพลิเคชันดังกล่าวมีการดาวน์โหลดในปีนี้ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 25,000 ครั้ง ซึ่งผู้ที่สนใจก็สามารถดาวน์โหลดและใช้งานจริงได้แล้วตั้งแต่วันนี้ในระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

              โดยนอกเหนือจาก 5 แอปพลิเคชันข้างต้น กสอ. ยังมีช่องทางการบริการระบบออนไลน์อื่น ๆที่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปยังคงสามารถดาวน์โหลดและเข้าใช้ได้ ซึ่งได้เปิดให้ใช้บริการ อาทิ www.NEClearning.com แพลตฟอร์มการเรียนรู้เริ่มต้นธุรกิจด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงการเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมด้านการประกอบการในยุคดิจิทัล ผ่านระบบ E-Learning www.bsc.dip.go.th เว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลข่าวสาร โครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ กรณีศึกษา SMEs ที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนคลังความรู้ในการประกอบธุรกิจที่ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลไปพัฒนาและต่อยอดได้ www.e-consult.dip.go.th การให้บริการรูปแบบ Web Conference จากศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BSC) ในระดับส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษา อาทิ การเริ่มต้นธุรกิจ ปัญหาการดำเนินธุรกิจโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน www.id-society.com จากศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นเว็บไซต์คลังไอเดียที่รวบรวมแรงบันดาลใจ ไอเดีย ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย นักออกแบบ และสินค้าวัตถุดิบที่ง่ายสำหรับการค้นหาการออกแบบทางอุตสาหกรรมทั้งหมด

                    ดร.พสุ ยังกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้วงการอุตสาหกรรมในระดับสากลได้หันมาใช้ประโยชน์จากโปรแกรมประยุกต์บนช่องทางการสื่อสารออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่า Mobile Application มาเป็นจุดสำคัญในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งผนวกเข้ากับกิจกรรมต่างๆ กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแอปพลิเคชันที่เกิดขึ้นมาอย่างมากมายและหลากหลายประเภทนี้คือปัจจัยและอาวุธที่สำคัญประเภทหนึ่งที่ทำให้การดำเนินธุรกิจสะดวกสบาย มีความรวดเร็วและสามารถแก้ปัญหาบางประเภทได้อย่างทันท่วงที ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการในการเชื่อมโยงข้อมูล การสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับการบริหารจัดการ การลดต้นทุนในขั้นตอนการผลิต รวมถึงการสร้างไอเดียหรือมุมมองใหม่ๆ ที่จะนำไปประยุกต์ในการใช้สร้างโอกาสช่องทางทางการตลาดหรือการต่อยอดธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

                 แต่สำหรับสถานการณ์ของผู้ประกอบการไทยทั้งในภาคการค้า ภาคการผลิต ภาคการบริการ และอื่น ๆ กลับพบว่ายังไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่การแข่งขันทางธุรกิจและในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภคได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการและรูปแบบเดิม ๆ ในการทำธุรกิจ เนื่องจากยังขาดความรู้ความเชื่อมั่น รวมถึงทักษะทางด้านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ไอซีที เข้าไปปรับธุรกิจให้ทันสมัย ทั้งนี้ จากสถิติ SMEs ที่มีอยู่กว่า 2.8 ล้านรายพบว่า มีเพียง 20% หรือประมาณ 550,000 รายที่นำระบบเทคโนโลยีและเครื่องมือออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการดำเนินอุตสาหกรรม (ที่มา : สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)) ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวให้เข้าถึงทักษะการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และแอปพลิเคชันที่มีการพัฒนาอย่างมากมายนี้เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในองค์กรอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น และเพื่อที่ในอนาคตจะได้ก้าวทันโลกแห่งการค้าที่ไร้พรมแดน พร้อมก้าวนำผู้อื่นจากสิ่งที่มีอยู่ในมืออย่างฉับไวได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยตัวเอง

                 อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเร่งเปลี่ยนโจทย์ที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยเพื่อให้ก้าวทันยุค 4.0 โดยจะเร่งปรับรูปแบบการดำเนินงานของเอสเอ็มอีให้หันมาทำธุรกิจโดยใช้ระบบออนไลน์และดิจิทัลอย่างเต็มตัวและเต็มรูปแบบ รวมถึงการสร้างบุคลากร กลุ่มคน ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล และสร้างนวัตกรรมด้านบริการออนไลน์ให้เกิดขึ้นอย่างหลากหลายตามที่ตลาดธุรกิจและผู้ประกอบการต้องการ ภายใน 2 ปี โดยในเบื้องต้นได้จัดสรรงบประมาณจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลไว้จำนวน 44 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ประโยชน์จากบริการและระบบดิจิทัลได้ไม่น้อยกว่า 1 แสนราย ภายในปีนี้อย่างแน่นอน ดร.พสุ กล่าวทิ้งท้าย

                สำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจรายละเอียดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 1358 หรือเข้าไปที่ www.bsc.dip.go.th/

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ