ข่าว

เปิด4อุปสรรครถไฟ‘ไทย-จีน’ สาเหตุใช้อำนาจม.44

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด4อุปสรรครถไฟ‘ไทย-จีน’ สาเหตุใช้อำนาจม.44

 พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าสาเหตุที่ต้องใช้ ม.44 เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าบางเส้นทางมีปัญหาติดขัด เช่น โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา มีปัญหา 5 ด้านที่ต้องอาศัยอำนาจมาตรา 44 มาขับเคลื่อนให้โครงการดำเนินต่อไปได้ ดังนี้

1.การก่อสร้างที่ต้องใช้สถาปนิกหรือวิศวกรของจีนไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดกฎหมายต้องสอบใบอนุญาตประเภทบุคคลจากไทยก่อน ยกเว้นจะเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ทั้งที่จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 2 หมื่นกิโลเมตร ขณะที่ไทยยังไม่มีแม้แต่เมตรเดียว เหตุใดจึงต้องมาสอบใบอนุญาตสถาปนิกหรือวิศวกรจากไทยก่อน โดยประเด็นนี้จึงต้องใช้มาตรา 44 ดำเนินการ แต่อาจต้องให้บุคลากรของจีนได้รับการอบรมหรือปฐมนิเทศด้านเส้นทาง ทรัพยากร ภูมิประเทศของไทยก่อน

2.พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องผ่านกระบวนการของซุปเปอร์บอร์ด กรณีวงเงินลงทุนเกินกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งอาจจะต้องมีการยกเว้นในเรื่องนี้ 3.การกำหนดราคากลาง ที่ไทยใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างแตกต่างจากจีนที่ไม่มีราคากลาง จึงอาจต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้สามารถใช้วิธีการเจรจาเสนอราคามาตรฐานที่ใช้อ้างอิงได้

4.การจัดซื้อจัดจ้างแบบรัฐต่อรัฐ ระหว่างรัฐบาลไทย-จีน โดยระบบทางการจีนใช้ระบบให้สภาพัฒน์ของจีนเลือกบริษัทเอกชนเป็นคู่สัญญา จึงสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งประสานทางการสภาพัฒน์จีนให้ออกหนังสือรองรับว่าจะใช้บริษัทใดเป็นคู่สัญญาเพื่อดำเนินการก่อสร้าง 

5.เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีบางพื้นที่ต้องผ่านเขตป่าสงวนหรือพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำหนดให้ใช้เฉพาะทำการเกษตรเท่านั้น จึงอาจต้องใช้อำนาจมาตรการ 44 เข้ามาดำเนินการ

พลโทสรรเสริญ บอกว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (13 มิ.ย.2560) ยังไม่ได้ขอใช้อำนาจคสช.ออกประกาศคำสั่งมาตรา 44 เพื่อเร่งดำเนินการรถไฟไทย-จีน เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการทำร่างประกาศยังไม่แล้วเสร็จ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานในที่ประชุม ครม.ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งร่างข้อกฎหมายที่จะใช้อำนาจ คสช. ในมาตรา 44 เพื่อเสนอให้ คสช. พิจารณาในสัปดาห์หน้า

“ม.44ที่ใช้แก้ไขปัญหาการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน ในครั้งนี้ จะใช้ครอบคลุมทุกโครงการก่อสร้างทางรถไฟที่ติดปัญหาแบบโครงการนี้ รวมทั้งยังศึกษาในการแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินในทุกเรื่อง เช่น ปัญหา สปก. ในโครงการผลิตปิโตรเลียมที่ลานกระบือ โครงการวินฟาร์ม และโครงการพัฒนาอื่นๆที่เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศชาติ เพื่อให้โครงการต่างๆของรัฐบาลเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย”

พลโทสรรเสริญ กล่าวอีกว่านายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคสช. ได้กำชับว่าการใช้อำนาจมาตรา 44 นั้นสามารถทำได้ หากมีเหตุและผลรองรับ และหากทำให้ประชาชนได้รับทราบเหตุผลนั้น เกิดการยอมรับ และเกิดความเชื่อมั่นว่าทุกอย่างที่ทำไม่ได้ทำให้ระบบงานเสียหาย แต่กลับจะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปตามโรดแมพที่วางไว้ได้ 

สำหรับรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ซึ่งเป็นโอกาสในการเฉลิมฉลองการครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ 

สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจ

1. รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการตาม “กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565” โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช- แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด (ประมาณ 734 กิโลเมตร) และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ (ประมาณ 133 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลในการดำเนินโครงการความร่วมมือดังกล่าว

2. หลักการในการดำเนินการ มีดังนี้

-ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟและจะมีการหารือการสนับสนุนเงินลงทุนและการชำระเงินลงทุนกันต่อไป

-ให้ฝ่ายจีนเข้ามามีส่วนร่วมในโอกาสแรกที่เป็นไปได้ในขั้นตอนการเตรียมการของโครงการฯ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ และจะพยายามให้เริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2559

-ในการประเมินมูลค่าโครงการฯ ให้เป็นการหารือระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งให้องค์กรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสองฝ่ายเป็นผู้ประเมิน

-ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือของโครงการฯ กันต่อไป

3. ให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วม เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ฝ่ายไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานร่วม ฝ่ายจีนให้ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Council) เป็นประธานร่วม

4. ในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ระหว่างสองประเทศ

5. หากสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฯ ขัดหรือแย้งกับบันทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า

6. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจแก้ไขโดยความเห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร

7. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะมีผลใช้บังคับ ณ วันที่ลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี นอกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เดือนล่วงหน้า 

ทั้งนี้ หากไม่มีการบอกเลิก บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีกครั้งละ 5 ปี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ