ข่าว

สหรัฐแนะไทยพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็น “มหานครการบิน”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สหรัฐแนะไทยพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็น “มหานครการบิน”

                  คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ครศ.) จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “การพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบิน โอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจ” วานนี้ (9 มิ.ย.) โดยมีการพูดถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท่าอากาศยานและแนวคิดการพัฒนาเมืองสนามบินศูนย์กลางการบิน และมีวิทยากรคนสำคัญอย่างนายจอห์น ดี. คาซาร์ดา เจ้าของแนวคิด “เมืองการบิน” มาร่วมบรรยาย

                     นายคาซาร์ดา ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการบินพาณิชย์ คณะบริหารธุรกิจคีแนน-แฟลกเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐ เสนอว่า การพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาให้เป็นเมืองศูนย์กลางการบินจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยต้องเริ่มจากการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างสนามบินกับภายนอก เช่น ถนนเส้นทางพิเศษ ทางรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือใหญ่

                  “เมื่อการคมนาคมในพื้นที่พร้อมแล้ว ก็ต้องสร้างโซนต่าง ๆ รอบสนามบิน เช่น ชุมชนเมือง ธุรกิจ การแพทย์ และโลจิสติกส์ เพื่อให้กลายเป็นมหานครการบินอย่างเต็มรูปแบบที่จะดึงเงินเม็ดเงินลงทุนได้อย่างมหาศาล”

                   ขณะเดียวกัน นายคาซาร์ดาระบุว่า สนามบินอู่ตะเภามีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมาก และมีทำเลเหมาะสมที่จะเป็นฮับด้านเศรษฐกิจแห่งใหม่ อย่างไรก็ตาม เขามองว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจโลก

                    นายคาซาร์ดาอธิบายแนวคิดเมืองศูนย์กลางการบินของเขาว่า เป็นการพัฒนาสนามบินและพื้นที่โดยรอบในรัศมี 10-20 กม.ให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม และให้สนามบินเป็นเหมือนแกนหลักในการดำรงชีวิตของพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะช่วยดึงดูดธุรกิจและความเจริญต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่และจะเชื่อมโยงไทยเข้ากับภูมิภาคและทั่วโลกมากขึ้น

                  นอกจากนี้ นายคาซาร์ดายังยกตัวอย่างเมืองศูนย์กลางการบินที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในต่างประเทศ เช่น สนามบินนานาชาติอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮลในเนเธอร์แลนด์ อินชอนในเกาหลีใต้ ชางงีในสิงคโปร์ และดูไบในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

ทั้งนี้ นายคาซาร์ดาเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสถาบัน “มหานครการบิน” (Aerotropolis Institute) ในจีน ทั้งยังเป็นผู้พัฒนาเมืองการบินรอบสนามบินนานาชาติเจิ้งโจว ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นสนามบินที่ทันสมัยและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ 

                 ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการครศ. กล่าวว่า สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง เคยทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงและปกป้องประเทศมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แก่ผู้โดยสารและสายการบินที่เดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และกำลังถูกพัฒนาให้เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ 

                 นายคณิศตั้งเป้าว่า จะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในสนามบินอู่ตะเภาเป็น 5 ล้านคนภายใน 5 ปี 30 ล้านคนภายใน 10 ปี และ 60 ล้านคนภายใน 15 ปี ซึ่งรัฐบาลยังมีโครงการจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินสู่การเป็นมหานครแห่งการบิน เป็นเมืองใหม่ที่มีสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลาง เพื่อขานรับนโยบายการพัฒนาอีอีซีด้วย

                 การสร้างเมืองการบินอู่ตะเภาจะเกิดการพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่ๆรอบรัศมีสนามบิน20-30กิโลเมตรครอบคลุมไปถึงเมืองพัทยาและนิคมอุตสาหกรรมเหมราชเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเมืองท่องเที่ยวและพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จก็จะดึงดูดธุรกิจจำนวนมากเข้าไปตั้งในพื้นที่นี้

                “อุตสาหกรรมที่เข้าไปตั้งจะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความรวดเร็วในการขนส่งและขยายไปเป็นเมืองธุรกิจที่สำคัญรวมทั้งยังเป็นแรงดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้าไปตั้งสำนักงานภูมิภาคเพราะสะดวกในการประชุมอบรมสัมมนาต่างๆเพราะอยู่ใกล้สนามบิน” 

                นายคณิศ กล่าวว่าแนวคิดการสร้างเมืองการบินเป็นแนวทางการพัฒนาใหม่ที่ทั่วโลกต่างมุ่งมาทางนี้ไม่เหมือนอดีตที่สร้างสนามบินเพียงอย่างเดียวโดยรัฐบาลจะต้องเร่งสร้างเครือข่ายการจนส่งที่ดีรองรับคาดว่าเมืองการบินอู่ตะเภาจะใช้เวลาพัฒนา 20-30ปีโดยภายใน5ปี

สำหรับแนวคิดในการตั้งจังหวัดใหม่ในพื้นที่อีอีซีจากเดิมมีขอบเขต3จังหวัดเป็น4จังหวัดนั้นที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถากับนักลงทุนญี่ปุ่นนั้นขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดจะต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนอีกครั้ง 

                   นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่าในแผนการพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภาคาดว่าภายใน10ปีจะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า2แสนล้านบาทโดยในขั้นต้นอยู่ระหว่างการประสานงานกับกองทัพเรือศึกษาตั้งเขตประกอบการเสรีขนส่งสินค้าทางอากาศยานทำให้การดำเนินงานมีความคล่องตัว

                 “ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคลังสินค้าเชื่อมโยงสนามบินอู่ตะเภาและห่วงโซ่การผลิตในนิคมอุตสาหกรรมไปสู่เขตประกอบการเสรีจะทำให้ธุรกิจทั้งหมดเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว”

                นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(ครศ.)ในครั้งหน้าจะมีการเสนอแผนการพัฒนาท่าเรือในอีอีซีทั้ง 3 แห่งและจะพิจารณาตั้งท่าเรือแหลมฉบังเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนบนพื้นที่โดยรอบได้อย่างรวดเร็ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ