ข่าว

ยกระดับ“เจเทปปา” สั่งพาณิชย์รีวิวข้อตกลงร่วมพัฒนาอีอีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“สมคิด”เสนอยกระดับ“เจเทปปา” สั่งพาณิชย์รีวิวข้อตกลงให้ญี่ปุ่นร่วมพัฒนาอีอีซี

 การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 ที่ กรุงโตเกียว โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและนายโยะชิฮิเดะ สึกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นร่วมเป็นประธานร่วม โดยระบุว่า ประเด็นของการหารือครอบคลุมความร่วมมือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจรอบด้าน ทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการทบทวนข้อตกลงการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นหรือเจเทปปา (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA)

นายสมคิด กล่าวว่าการหารือเจเทปปานั้น ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งสรุปรายละเอียดที่จะต้องหารือและปรับปรุงร่วมกันให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่การรีวิวครั้งนี้จะไม่เหมือนการเน้นลดภาษีสินค้าเหมือนที่ผ่านมา แต่ฝ่ายไทยต้องการให้มีการวางแผน นำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ พัฒนาการค้าสู่โลกที่เปลี่ยนแปลง และอยากให้ญี่ปุ่นเข้ามาช่วย เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำลังจัดตั้งสถาบันด้านเทคโนโลยีในอีอีซี ก็ขอให้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) เข้ามาช่วยก่อตั้งด้วย

“การรีวิวเจเทปปาครั้งนี้ จะต้องไม่เหมือนครั้งก่อนๆ เพราะเราจะไม่คุยกันถึงรายละเอียดสินค้า การปรับลดภาษีเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้เห็นภาพการพัฒนาความร่วมมือกันแบบใหม่ ให้เห็นเป็นภาพอนาคต ช่วยกันสร้างระบบรองรับการเปลี่ยนแปลงของการค้าที่จะเกิดขึ้น ทั้งพัฒนาบุคลกรร่วมกัน พัฒนาระบบร่วมกัน ซึ่งเป้าหมายแรกๆ ของความร่วมมือการพัฒนานี้ เราจะเน้นไปที่อุตสาหกรรม ยานยนต์ พัฒนาบุคลกรของเราให้มีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงไปถึงการช่วยพัฒนาซีแอเอ็มวี”

นายสมคิด ยังกล่าวอีกว่า ในการหารือเรื่องเจเทปปา ทางญี่ปุ่นไม่ได้เสนอเงื่อนไขเป็นพิเศษ ซึ่งนอกจากการหารือประเด็นความร่วมมือทางการค้าแล้ว ไทยยังแสดงความสนใจพร้อมเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก(ทีพีพี)ที่ญี่ปุ่นสนับสนุน หากประเทศสมาชิกมีการทบทวนเงื่อนไขแล้วเสร็จ และเปิดรับสมาชิกใหม่ ขณะที่การเจรจา การตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ไทยก็ยังคงสนับสนุนให้เดินหน้าต่อเนื่อง 

นอกจากการหารือในส่วนดังกล่าวแล้ว ไทยยังชี้แจงถึงนโยบายการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่จะมุ่งเน้นพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือที่เป็นไปได้ในการพัฒนา “4 พื้นที่เพื่อการพัฒนา–14 โครงการหลัก–5 โครงการลำดับสูงสุดในปี 2560” ที่จะมีการลงทุน 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 5 ปี สำหรับพื้นที่อีอีซีเดิม มี 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ระยองและชลบุรี

“ทางสึกะได้ตอบตกลงที่จะดูแล สั่งการนำเอกชนไปเยือนไทย เพื่อฉลองความสัมพันธ์ 130 ปี นอกจากนี้ก็ได้ตอบตกลงที่จะช่วยซัพพอร์ตการพัฒนาโครงสร้าง ความเชื่อมโยงทางดิจิทัลสำหรับการค้าและการเงินรูปแบบใหม่ การยกระดับการค้าข้ามชายแดน การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาคเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเป็นเนื้อหาสำคัญ ในการทำแผนแม่บทกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ซึ่งไทยจะเป็นประธานจัดในปี 2561” 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าญี่ปุ่นแสดงความสนใจจะศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เพื่อเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานและขยายเส้นทางไปจนถึง จ.อยุธยา เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้จะเชื่อมต่อโครงการอีอซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

สำหรับโครงรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง673กิโลเมตร วงเงินลงทุน5.5 แสนล้านบาทก็อยู่ระหว่างศึกษาและเดินหน้าต่อไป โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลง 

ด้านนายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ไปจนถึง จ.อยุธยานั้น ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน ทราบเพียงแต่ว่าเป็นแนวคิดที่ประเทศญี่ปุ่นเสนอมา เพราะฉะนั้นคงต้องรอให้ผู้นำของประเทศทั้ง 2 ฝ่ายหารือและตัดสินใจร่วมกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร

แต่เบื้องต้นคาดว่า ในวันจันทร์ที่ 12 มิ.ย. นี้ อาจมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะนายสมคิด มีกำหนดจะเดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงคมนาคมและอาจให้นโยบายเรื่องนี้ด้วย

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่ายังไม่ทราบรายละเอียดและเชื่อมต่ออย่างไร โดยตอนนี้อยู่ระหว่างประสานข้อมูลเพื่อศึกษารายละเอียดอยู่

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองนั้น ตอนนี้ได้ศึกษาและออกแบบรายละเอียดเรียบร้อยหมดแล้ว โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) เนื่องจากนโยบายกำหนดให้รวมรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าว และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-ดอนเมือง เข้าสู่ขั้นตอนของพีพีพีไปพร้อมกัน

สำหรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง ได้ขยายเส้นทางจากเดิมสิ้นสุดที่สถานีกลางบางซื่อ ไปสิ้นสุดที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเป็นการเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานเข้าด้วยกัน คือ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะเป็นการก่อสร้างส่วนต่อขยายจากพญาไท-ดอนเมือง เพื่อให้ขบวนรถที่วิ่งให้บริการอยู่ในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปถึงดอนเมืองได้  

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็ได้ยินมาบ้างที่รัฐบาลจะเพิ่มจังหวัดในพื้นที่อีอีซี ซึ่ง ส.อ.ท. ก็เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการรวมพื้นที่ที่กว้างใหญ่ขึ้น ซึ่งหากจังหวัดที่เข้ามาใหม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ ก็จะเพิ่มศักยภาพการดึงดูดให้กับ อีอีซี เพิ่มขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ