ข่าว

สศช.แนะเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน รับนโยบาย“ประเทศไทย4.0” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สศช.แนะเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน รับนโยบาย“ประเทศไทย4.0” 

                     สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกรายงานพิเศษเรื่อง “การเตรียมความพร้อมทักษาแรงงานไทยในอนาคต : กรณีกลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพ First S-Curve” นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดและรุนแรง (Disruptive Technology) ซึ่งจะส่งผลต่อรูปแบบการผลิต และความต้องการแรงงานทั้งระดับการศึกษาและทักษะที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นแรงงานจำเป็นต้องมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถปรับตัวรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

                    ทั้งนี้ สศช.ได้ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ศึกษาความพร้อมของแรงงานในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยรวบรวมข้อมูลจากสถานประกอบการกิจการประเภทที่ฐานกลุ่มอุตสาหกรรม First S-Curve ซึ่งมีศักยภาพและสามารถที่จะต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมในอนาคต 5 อุตสาหกรรมได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เกษตรการผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง แปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับที่พัก สปา และเรือสำราญ โดยสำรวจในกลุ่มแรงงานระดับกลางคือที่มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับ ปวช.ขึ้นไป 1,353 ตัวอย่าง และผู้บริหาร/ผู้ประกอบการ 239 ราย ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ลำพูน นครราชสีมา ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ และภูเก็ต

                  ผลสำรวจพบว่าแรงงานและผู้ประกอบการส่วนใหญ่คือกว่า 78.7% รับรู้แนวนโยบายการพัฒนาประเทศไทย 4.0 แต่ขาดความเข้าใจที่ชัดเจน แรงงาน 63% รับรู้ข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างไรก็ตามความเข้าใจต่อความหมายยังขาดความชัดเจนและเข้าใจไม่ตรงกันขณะเดียวกันแรงงานที่รับรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือกระทบต่อการทำงานมีสัดส่วน 1 ใน 3 ซึ่งน้อยกว่าระดับผู้บริหาร/ผู้ประกอบการกว่าครึ่ง โดยเทคโนโลยีที่มีการรับรู้คล้ายคลึงกันคือ การเชื่อมโยงด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (loT) การใช้หุ่นยนต์เพื่อการผลิตหรือบริหาร ระบบบริหารการจัดการทรัพยากรองค์กร (ERP)

                นอกจากนี้ยังพบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมบริหารกว่า 50% มีการใช้เป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ขณะที่อีก 50% มีการใช้เทคโนโลยีในบางส่วน โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารกับลูกค้า การสื่อสารภายในองค์กร และการบริหารความมั่นคงปลอดภัย ทั้งนี้สถานประกอบการที่ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีแต่มีแผนที่จะนำแนวโน้มมาใช้โดยเฉพาะในการบริหารคลังสินค้า การบริหารจัดการหรือวิเคราะห์ข้อมูล และการวางแผนกิจการ

                   สำหรับความเห็นของผู้ประกอบการที่มองความสามารถของแรงงานพบว่า ความสามารถของแรงงานอยู่ในระดับคะแนนเฉลี่ยระดับมาก แต่มี2ทักษะที่ผู้ประกอบการเห็นว่าอยู่ในระดับปานกลาง คือการใช้ภาษาอังกฤษ และการค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าควรเพิ่มเติมการเรียนการสอนด้านภาษา การฝึกปฏิบัติจริง และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งทักษะคอมพิวเตอร์

                 สอดคล้องกับการให้แรงงานประเมินความสามารถของตนเองซึ่งมีความเห็นที่สอดคล้องกับผู้ประกอบการคือ กว่า50%เห็นว่าด้านภาษาอังกฤษยังต้องปรับปรุง เนื่องจากยังไม่อยู่ในระดับที่สามารถสื่อสารได้ ส่วนทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนใหญ่เห็นว่ามีทักษะระดับพอใช้

                ทั้งนี้สศช.ได้กำหนดแนวทางในการเตรียมความพร้อมของแรงงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ 4 ข้อได้แก่ 1.การพัฒนาทักษะแรงงาน โดยส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาการออกแบบหลักสูตรอบรมให้เหมาะกับแต่ละคลัสเตอร์ของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มทักษะ ด้าน Digital Skill การจัดการ Big Data ควบคู่กับคุณลักษณะการทำงาน เช่น การคิดวิเคราะห์ การผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับการลงพื้นที่จริงอย่างเหมาะสม การคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถหลากหลายยืดหยุ่น รู้จักการปรับตัว และทักษะการสร้างทีม

                 2.การพัฒนาแรงงานในกลุ่มต่างๆให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยแบ่งกลุ่มเพื่อพัฒนาได้ครอบคลุมและเหมาะสมกับศักยภาพทั้งกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือและด้อยโอกาส แรงงานสูงอายุ แรงงานภาคเกษตร แรงงานในธุรกิจหรือวิสาหกิจขนาดเล็กเพื่อลดผลกระทบและความเหลื่อมล้ำให้กับแรงงานในกลุ่มเหล่านั้น รวมทั้งยังช่วยสร้างเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ

                3.การวางแผนการผลิตและพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษาทั้งเรื่องการพัฒนาหลักสูตร การสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ของธุรกิจเพื่อใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้ได้บุคลากรตรงตามความต้องการและทำงานได้จริง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในด้านความรู้ที่เป็นแกนหลัก ความสามารถทำงานกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถคิดวิเคราะห์ ใช้คิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา (Brain Power) และนวัตกรรม ตลอดจนการสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสม อาทิ มีทัศนคติที่ดี อดทน รับผิดชอบ ทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์

                4..การสนับสนุนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs การจับคู่/สร้างความร่วมมือระหว่างผู้คิดนวัตกรรม (startup) กับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าบริการใหม่ๆ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในทุกองค์กร/สถาบัน โดยเริ่มต้นจากครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน ฯลฯ โดยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจ บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ และมุ่งการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์​

             “การพัฒนาแรงงานตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ คุณภาพแรงงานใหม่ยังไม่ได้ตามที่ต้องการ การรับรู้/ความเข้าใจเกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ขาดเงินทุน การลงทุนนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ และความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน ข้อจำกัดและการปรับตัวของผู้ประกอบการและแรงงานพบว่า สถานประกอบการมีข้อจำกัดในการพัฒนาที่สำคัญคือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ คุณภาพแรงงานใหม่ยังไม่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดการอบรมพัฒนาแรงงานใหม่ก่อนเข้าทำงาน”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ