ข่าว

อีอีซี จับมือ ไอซีบีซี ดึงนักลงทุนต่างชาติลงทุนในอีอีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อีอีซี จับมือ ไอซีบีซี ธนาคารใหญ่ที่สุดของโลก ดึงนักลงทุนต่างชาติลงทุนในอีอีซี

                      วันที่ 26 พ.ค.มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) กับธนาคารไอซีบีซี(ICBC) สาธารณรัฐประชาชนจีน และสมาคมธนาคารไทย เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการไทยและจีนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี

                    นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) กล่าวว่า ในการลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ จะเป็นความร่วมมือด้านการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เชื่อมโยงอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำไปจนถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เช่น ท่าเรือ และสนามบิน

                       เนื่องจากมองว่าจีนมีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากขณะนี้จำนวนนักลงทุนจีนที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆในการลงทุนไทย โดยการลงนามครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นด้านความร่วมมือทางการเงินกับธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเป็นรายแรกในอีอีซี พร้อมตั้งเป้าหมายให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค เบื้องต้นมีแนวคิดศึกษาเรื่องการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตรา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน

                   “แม้ว่านักลงทุนจากจีนจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของไทย อย่างไรก็ตามยังถือว่าเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ที่พึ่งจะเข้ามาลงทุนในไทยได้ไม่นาน มีประสบการณ์ลงทุนในไทยน้อย รวมทั้งยังมีเอกลักษณ์ต่างจากนักลงทุนชาติอื่น ดังนั้นการที่ได้ไอซีบีซีเข้ามาช่วยก็จะทำให้ประสานงานการลงทุนในอีอีซีได้ง่ายขึ้น และเป็นการดูแลนักลงทุนทั้งหมดตั้งแต่การจัดหาสถานที่ตั้งโรงงาน สิทธิประโยชน์การลงทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการเงิน”

                        ด้าน นางสาวเซียน หง Deputy Head of Global Banking of ICBC ประเทศจีน กล่าวว่าปัจจุบันจีนมีนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทะเบียนทำธุรกิจอย่างถูกต้องประมาณ 200 ราย โดยส่วนใหญ่ให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน / อุตสาหกรรมไฮเทค และการสร้างเมืองใหม่ โดยจะร่วมกับสมาคมธนาคารไทยสนับสนุนด้านการเงินอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากไอซีบีซีเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะนี้มีสาขาต่างประเทศทั้งสิ้น 412 สาขา และมีธนาคารตัวแทนต่างประเทศ 1,507 แห่ง ครอบคลุม 143 ประเทศทั่วโลก และเฉพาะสาขาในประเทศไทยมีจำนวนอยู่ที่ 22 แห่ง

                        ในเดือนมิ.ย.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะยังเตรียมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือเมติซึ่งจะทำให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น

                         นายคณิศ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ที่ประชุมมีการหารือเรื่องของท่าเรือเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟรางคู่ โดยท่าเรือมาบตาพุดเฟส3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 และท่าเรือสัตหีบ ซึ่งทั้ง3 แห่งจะต้องเชื่อมต่อกับเส้นรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าภาคตะวันออก 

                           โดยต้องเร่งรัดกระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี)และการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)คาดว่าจะทำให้ท่าเรือทั้ง 3 แห่งทยอยเปิดให้บริการได้ในปี 2564-2565 จากเดิมในปี 2566 ขณะที่รถไฟทางคู่จะพร้อมเข้ามาเชื่อมระบบประมาณปี 2565

                         ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษารูปแบบการเชื่อมโยงแบบเชิงเดี่ยว (Single Operator)ซึ่งจะทำให้พื้นที่อีอีซีสามารถเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ได้ด้วย และช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันพื้นที่อีอีซีมีสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเพียง 8% ทั้งที่การขนส่งรูปแบบนี้มีต้นทุนต่ำที่สุด คาดว่าหากการเชื่อมโยงดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะช่วยให้สัดส่วนการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 30% ตามมาตรฐานสากล

                        ด้าน นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีช่วงปี 2558-2889 จำนวน 16,000 โครงการ มูลค่าลงทุน 287,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนการลงทุนเป็น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 70% มูลค่า 197,000 ล้านบาท 

                      คาดว่าเมื่อแผนการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานมีความชัดเจน และ พ.ร.บ.อีอีซี ประกาศใช้ จำนวนนักลงทุนเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นซึ่งจะมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีปีนี้คาดการณ์ไว้ที่ 1.5 แสนล้านบาท 5 ปี จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำหรับพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังนั้น ในวันที่ 16 มิ.ย.2560 ที่จะประชุมกับนายกรัฐมนตรี ประธาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นั้น จะเป็นการเสนอรายงานรูปแบบของโครงการให้รับทราบ จากนั้นจะให้เจ้าของพื้นที่ คือ การท่าเรือพิจารณาและนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุม คณะกรรมการบริหารพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ

                   รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมี 3 มาตรการคือ เร่งในขั้นตอนของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) การพิจารณาโครงการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนให้รวดเร็วขึ้น และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมการบินและชิ้นส่วน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ