ข่าว

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย ห่วงขีดแข่งขัน‘เอสเอ็มอี’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย ห่วงขีดแข่งขัน‘เอสเอ็มอี’

       การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 3 ในรอบปี 2560 เมื่อวันที่ 24พ.ค.60 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ซึ่งถือเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องติดกันเป็นเดือนที่ 25 โดย กนง. มองว่า ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทเริ่มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค

       นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น แม้ว่ายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศ แต่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ รับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ดี

       อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ทำให้รอบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครั้งนี้ เอสเอ็มอี ที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้ อาจใช้เวลานานกว่าเดิมในการที่จะกลับมาเป็นหนี้ปกติ 

       นายจาตุรงค์ กล่าวว่า โดยปกติแล้วเอ็นพีแอลจะเป็นตัวที่ตามหลังเศรษฐกิจ และมักจะเห็นว่าหลังเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นไปแล้ว 2 ไตรมาส เอ็นพีแอลก็จะดีขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับเอสเอ็มอีที่มีปัญหาเรื่องการแข่งขัน อาจต้องใช้เวลาที่นานกว่านั้น

      “ความจริงแล้วพอร์ตสินเชื่อแบงก์มีเอสเอ็มอีมาก แต่เป็นเอสเอ็มอีที่แข่งขันได้ ส่วนเอสเอ็มอีที่ความสามารถในการแข่งขันลดลง หรือไม่ได้ปรับรูปแบบของธุรกิจตัวเอง ก็อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงอยากชี้แจงว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่อยู่ที่รูปแบบธุรกิจที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย”นายจาตุรงค์กล่าว

       นอกจากนี้ กนง. ยังแสดงความเห็นห่วงต่อความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร 

       สำหรับค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา กนง. มองว่า เริ่มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ค่าเงินบาทเวลาแข็งค่ามักจะแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค หรือเวลาที่อ่อนค่าก็มักจะอ่อนน้อยกว่าสกุลเงินอื่นๆ

      “รอบก่อนๆ กนง. มองในส่วนนี้ด้วย คือ ดูเปรียบเทียบกับภูมิภาค ซึ่งเราแข็งมากกว่าคนอื่น แต่รอบนี้เราเคลื่อนไหวสอดคล้องกับในภูมิภาค อีกทั้งการส่งออกก็เริ่มดีขึ้น กรรมการจึงคลายความกังวลลงในเรื่องของค่าเงิน” 

       สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มชะลอลงมากกว่าคาด และอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วง จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่ช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยการชะลอลงของเงินเฟ้อทั่วไป เป็นผลจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน

       ส่วนเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นบ้างตามรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีทิศทางดีขึ้น

       สำหรับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามที่ประเมินไว้และการใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนเอกชนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ

       อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผลของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก 

       นายจาตุรงค์ กล่าวด้วยว่า การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวต่อเนื่องไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทยที่เดียว แต่เป็นปัญหาที่เป็นเหมือนกันหมดทั่วโลก ซึ่งเป็นปัญหาที่ธนาคารกลางทั่วโลกตั้งข้อสงสัยกับการลงทุนที่ไม่ขยายตัว

      “คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรเดิมๆ ยังมีกำลังผลิตเหลือเขาก็ยังไม่ลงทุน ในขณะที่การลงทุนใหม่ๆ อยู่ในรูปของ intangible (จับต้องไม่ได้) เช่น การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งอาจไม่ได้ถูกนับในการลงทุนปกติ เรื่องพวกนี้ ธปท. ก็อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล ซึ่งการลงทุนของไทยมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเยอะมาก”

       นอกจากนี้ กนง. ยังมีความเห็นว่า ภาวะการเงินโดยรวม อยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยแท้จริงอยู่ระดับต่ำ ภาคธุรกิจยังสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากสินเชื่อสถาบันการเงินและตลาดทุน

       นายจาตุรงค์ กล่าวว่า มองไปข้างหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนขึ้น แม้ว่ายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ระดับต่ำ กนง. จึงเห็นว่า นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ 

        ส่วนกรณีปัญหาของสหกรณ์บางแห่งที่มีเรื่องของการทุจริตและประสบภาวะขาดทุนนั้น นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นผลกระทบในส่วนที่จะมีผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมมากนัก เนื่องจากขนาดของสหกรณ์เหล่านี้ไม่ได้สูงมาก อีกทั้งสหกรณ์ที่ดีก็ยังมีจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ กนง. ติดตามดูในเรื่องนี้อยู่

       “สหกรณ์ที่เคยมีปัญหาก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ซึ่ง กนง. ยังมองว่า การที่คนพยายามหาผลตอบแทนสูงๆ ไม่ใช่เฉพาะการไปฝากเงินกับสหกรณ์ แต่เรื่องของแชร์ลูกโซ่ ก็เป็นตัวหนึ่งที่บ่งชี้ว่า คนอยากได้อะไรที่ให้ผลตอบแทนสูง ๆ”

       ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ยังคงพิจารณาปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น 3 ระยะ 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อลดความร้อนแรงของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ