ข่าว

พลังงานส่งปตท.ลงทุนก๊าซนอร์เวย์หลังปริมาณในอ่าวไทยลด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พลังงานส่งปตท.ลงทุนก๊าซนอร์เวย์ เตรียมรับมือวิกฤติก๊าซ หลังปริมาณในอ่าวไทยลด

                  พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ กระทรวงพลังงานร่วมกับสถานฑูตนอร์เวย์ ประเทศไทย จัดเวทีให้ข้อมูลเรื่องศักยภาพแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ของนอร์เวย์ เนื่องจากปัจุบันนอร์เวย์มีการค้นพบแอลเอ็นจีมากขึ้น และพร้อมที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ และแถบเอเชีย

                “หากนอร์เวย์ ยินยอมให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้าไปร่วมถือหุ้นในแหล่งผลิตแอลเอ็นจี เพื่อเรียนรู้กระบวนการผลิต กระบวนการค้าแอลเอ็นจีด้วย จะจูงใจให้ไทยสนใจมากขึ้น”

                ทั้งนี้ การจัดเวทีให้ข้อมูลเรื่องศักยภาพแหล่งแอลเอ็นจีของนอร์เวย์ เกิดขึ้นภาคหลังจาก พล.อ.อนันตพร ได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงาน เดินทางไปศึกษาดูงานต้นแบบแหล่งสำรวจก๊าซธรรมชาติและแผนบริหารจัดการทรัพยากรด้านพลังงานประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2560 และได้พบปะกับ Ms.Elisabeth Berge ปลัดกระทรวงปิโตรเลียมและพลังงานนอร์เวย์ ซึ่งได้รับฟังข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการผลิตแอลเอ็นจีและการค้าแอลเอ็นจี ของนอร์เวย์

                 นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้พลังงานของนอร์เวย์ ในด้านไฟฟ้ากว่า 90% เป็นการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ขณะที่นอร์เวย์มีการค้นพบปริมาณสำรองทั้งน้ำมันและก๊าซจำนวนมาก ทำให้นอร์เวย์กลายเป็นประเทศนอกกลุ่มโอเปก ที่มีการส่งออกน้ำมันดิบ มากเป็นอันดับ2 ของโลก รองจากรัสเซีย โดยผลิตน้ำมันดิบได้มากถึง 2ล้านบาร์เรลต่อวัน

                ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ค้นพบมีการส่งออกทางท่อส่งก๊าซไปขายให้กับประเทศในกลุ่มยุโรปกว่า 25% ของความต้องการใช้ ขณะประเทศที่อยู่ไกลออกไป จะส่งออกในรูปของแอลเอ็นจี และไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่นอร์เวย์ให้ความสนใจ

                 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การจัดหาแอลเอ็นจี เป็นแนวทางหนึ่งที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญตามแนวทางเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาวะวิกฤติก๊าซธรรมชาติปี 2564-2566 ที่ก๊าซฯในอ่าวไทยจะหายไปราว 2 ล้านตัน กระทบพลังงานไฟฟ้า 13,623 ล้านหน่วย หรือ เทียบเท่าโรงไฟฟ้า 1,700 เมกะวัตต์

                  กระทรวงพลังงาน จึงมีนโยบายให้ ปตท.ในฐานะผู้จัดหาแอลเอ็นจี จัดทำแผนซื้อแอลเอ็นโดยกระจายแหล่งเพิ่มขึ้นและเน้นสัญญาระยะยาว เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและไม่กระทบต่อต้นทุน

                  “ปัจจุบัน ปตท.มีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสร้างคลังรับ-จ่ายแอลเอ็นจี เพื่อรองรับแอลเอ็นจีนำเข้า ซึ่งกระทรวงพลังงานไม่ได้ดูแค่ความพร้อมของการสร้าง แต่จะดูถึงแหล่งที่มาในการจัดซื้อแอลเอ็นจีด้วย ซึ่งจะทยอยเพิ่มแหล่งจัดซื้อที่ไม่ใช่มีแค่รายเดิมๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต” นายอารีพงศ์ กล่าวว่า

                 ส่วนความเป็นไปได้ในการเจรจาซื้อแอลเอ็นจีจากนอร์เวย์ กระทรวงพลังงานจะมอบหมายให้ปตท.เป็นผู้เจรจาหลัก ซึ่งการจะซื้อ หรือร่วมทุนธุรกิจแอลเอ็นจีระหว่างกันนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานต้นทุนราคาแอลเอ็นจีที่ไม่แพง และความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพลังงานก่อน

                   นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้ค้าแอลเอ็นจีต่างประเทศ ในความสนใจเสนอขายแอลเอ็นจีให้กับประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงการจัดงานโตเกียวแก๊ส มีผู้ค้าจากหลายประเทศเข้ามาเจรจากับไทย ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมในการจัดหาแอลเอ็นจีให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ

                 ทั้งนี้ ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ.2558-2579 (Gas Plan 2015) ประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 5,062 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน ในปี2565 จำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจี 17.4 ล้านตันต่อปี และในปี2579 ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี 34 ล้านตันต่อปี

                     โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับแอลเอ็นจีนำเข้า คือ โครงการขยายสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งที่2(LNG Receiving Terminal)ดำเนินการโดย ปตท. ซึ่งเพิ่มจาก 5 ล้านตันต่อปี เป็น 7.5 ล้านตันต่อปี กำหนดจัดส่งก๊าซภายในปี 2565 ใช้เงินลงทุน 38,500 ล้านบาท

                     โครงการก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ(FSRU)ในอ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ใช้เงินลงทุน 24,500 ล้านบาท กำหนดจัดส่งก๊าซภายในปี 2567

                     รวมถึงโครงการ FSRU ในเมียนมา ขนาด 3 ล้านตันต่อปี กำหนดจัดส่งก๊าซภายในปี 2570 ซึ่งมอบหมายให้ ปตท.เป็นผู้ศึกษารายละเอียดโครงการให้เสร็จ 30 พ.ค.2560

                  อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ปตท.มีแผนจะร่วมทุนกับ ปตท.สผ. จัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นในปีนี้เพื่อลงทุนด้าน LNG Value Chain เน้นการลงทุนขั้นกลางที่ยังขาดอยู่ เช่น โรงเปลี่ยนสภาพก๊าซฯ เป็นของเหลว การขนส่ง และเทรดดิ้ง โดยมีความพร้อมด้านการเงินทั้ง ปตท.และ ปตท.สผ.มีเงินสดรวม 8 พันล้านดอลลาร์

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ