ข่าว

“สมคิด”ย้ำเร่งพัฒนาอีอีซี เชื่อมวันเบลท์วันโรด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“สมคิด”ย้ำเร่งพัฒนาอีอีซี เชื่อมวันเบลท์วันโรด เรียกร้องแบงก์ออฟไชน่า ดึงลูกค้าจากทั่วโลกจับคู่กับนักธุรกิจไทย          

วันที่ 18 พ.ค.60 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-จีนThailand Cross Border Trade & Investment Conference ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศจีน (แบงก์ออฟไชน่า)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ว่าคุณค่าของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(วันเบลท์วันโรด) หรือเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนไม่ได้อยู่ที่เรื่องวัตถุ หรือ แค่มีโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นมา แต่อยู่ที่การใช้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นเชื่อมโยงนักธุรกิจ ประชาชนของแต่ละประเทศเป็นพลังแห่งเอเชียที่แท้จริง และประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)อย่างเต็มที่เพื่อเชื่อมกับนโยบายวันเบลท์วันโรดของจีนอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

ทั้งนี้ต้องการให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนต่อไปในระยะยาว ไม่ใช่แค่เป็นโครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง2ประเทศ ทั้งการสร้างความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่ง ด้านรถไฟ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อไปสู่ไทยแลนด์ 4.0และรองรับยุคดิจิทัลที่จะมาถึง 

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศจีนซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก การเดินทางมาครั้งนี้จึงถือว่ามีความสำคัญที่จะช่วยนำนักธุรกิจที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมาจับคู่เจรจาการค้ากัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ของทั้ง2ประเทศ ซึ่งยอมรับว่า หากเอสเอ็มอีของไทยได้พบกับคู่ค้าที่มีศักยภาพของจีน จะทำให้เกิดธุรกิจที่ดีต่อเศรษฐกิจในอนาคตได้

“ในปัจจุบันผู้ประกอบการของไทยยังมีความตื่นตัวกับอุตสาหกรรม4.0น้อยมาก ซึ่งในอนาคตหากผู้ประกอบการไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง พัฒนาเพื่อเข้าไปสู่ห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนของโลก ก็จะตกขบวน ดังนั้นจึงขอให้ทางธนาคารแห่งประเทศจีนช่วยแนะนำลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจจากทั่วโลกไม่เฉพาะจีนเท่านั้นมาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการของไทย ทั้งธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตระหว่างกันเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรองรับอนาคต ซึ่งในปีหน้าจะมีการจัดงานการประชุมเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-จีน อีกครั้ง โดยเน้นการในธุรกิจด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีเป็นหลัก”

ขณะเดียวกันการจัดงานจับคู่ธุรกิจในครั้งต่อไป ต้องการให้ทางธนาคารแห่งประเทศจีน เชิญนักธุรกิจจากกลุ่มประเทศซีแอลคือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม มาร่วมงานด้วยเพื่อให้ทุกประเทศเติบโตไปพร้อมๆกันเพื่อให้เป็นห่วงโซ่อุปทานร่วมกันไปได้ในภูมิภาค หากมีความแตกต่างทางเทคโนโลยีสูงจะมีปัญหาอย่างแน่นอน 

ทั้งนี้การจัดงานครั้งนี้ เป็นผลสำเร็จจากการที่ได้มีโอกาสไปเยือนกรุงปักกิ่ง สาธารณะรัฐประชาชนจีนเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา และได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง จึงได้เชิญชวนให้ธนาคารมาจัดงานในรูปแบบของการเจรจาจับคู่ธุรกิจครั้งใหญ่ในประเทศไทยจีน มาร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทย โดยเฉพาะบริษัทจากจีนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาด้านนวัตกรรม และนำพาประเทศไทยก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0

ธนาคารแห่งประเทศจีน ถือเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สำคัญ และมีบริษัทจีนจากทั่วโลกเป็นลูกค้า กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจที่เกิดขึ้นจึงเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกันของนักธุรกิจจากประเทศจีนกับนักธุรกิจไทย รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)ของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นพลังสำคัญของความร่วมมือกันสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและจีน

“ธนาคารได้นำลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจจากประเทศจีนเดินทางมาเข้าร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทย ซึ่งในวันนี้มีผู้ร่วมเจรจาจับคู่รวมกว่า 1,000 คน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เชื่อมโยงให้ภาคธุรกิจทั้งสองประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเราได้เชิญชวนให้นักธุรกิจจีนพิจารณาการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และจะเป็นศูนยกลางการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค และเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนโยบาย One Belt One Road ของจีน”นายสมคิด กล่าว 

ขณะที่นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)กล่าวว่า นอกจากนักธุรกิจจีนจะมาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทยแล้ว จะไปเยี่ยมชมพื้นที่อีอีซีและรับฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยด้วย ซึ่งนักธุรกิจจีนส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อแผนการเตรียมพื้นที่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐในอีอีซี

นับตั้งแต่ปี 2014 จีนเป็นประเทศคู่ค้าและตลาดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย และในปี 2016 จีนเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดลำดับที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 81 โครการ รวมมูลค่ากว่า 52,700 ล้านบาท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ