ข่าว

ครม.ไฟเขียวตั้งกองทุนหมุนเวียน “ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครม.ไฟเขียวตั้งกองทุนหมุนเวียน “ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” วงเงิน 5 หมื่นล้าน

                การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 6 พ.ค.60 อนุมัติจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน วงเงินสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลเตรียมออกกฎหมายรองรับเพื่อเป็นกองทุนแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานรากในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนแล้วกว่า 14 ล้านคนทั่วประเทศ

                   นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามที่คณะกรรมการนโยบายบริหารทุนหมุนเวียน กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีเงินทุนตั้งต้นในการดำเนินการกองทุนวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท 

                 การจัดตั้งกองทุนฯ ดังกล่าวให้ใช้งบประมาณที่อยู่ในส่วนของกระทรวงการคลังที่จะได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณรายจ่าย 2561 ในการดำเนินการก่อน จากนั้นจะมีการเสนอร่างกฎหมายสำหรับกองทุนเพื่อสนับสนุนการทำงานในระยะยาวและจัดสรรงบประมาณในการดำการในอนาคต

             ทั้งนี้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจัดตั้งขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับฐานราก และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯ 5 ข้อคือ 1.ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนใน 2.พัฒนาอาชีพในชุมชน 3.ลดความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันให้กับประชาชน 4.จัดหาที่อยู่อาศัยและแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับประชาชน และ 5.จัดหาหลักประกันความเสี่ยงด้านรายได้ให้กับประชาชน

               การจัดตั้งกองทุนฯดังกล่าวกระทรวงการคลังรายงาน ครม.ว่าจะเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่รองรับการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียง 

                 นายณัฐพร กล่าวว่า รูปแบบการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระยะต่อไปจะนำข้อมูลของผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนและช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจง (Targeting) ไปยังผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง จึงได้ตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสร้างความมั่นคง เพิ่มศักยภาพ และพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมอย่างครบวงจรสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร อันจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับฐานรากและทำให้เศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน

               “กองทุนนี้มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพและประกอบอาชีพอย่างเหมาะสมและพอเพียงรวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรงบประมาณต่อผู้ที่มีรายได้น้อยแบบเฉพาะเจาะจงหรือถูกฝาถูกตัวมากที่สุด นายกรัฐมนตรีกำชับว่าการจัดตั้งกองทุนนี้จะต้องเบิกจ่ายและใช้เงินให้ตรงกับวัตถุประสงค์ มีความโปร่งใส และมีความรัดกุมมากที่สุด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.รับทราบด้วยว่าเมื่อมีการให้บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ตรงกลุ่มประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศแรกที่ใช้วิธีการนี้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย” นายณัฐพร กล่าว

                นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐที่จะมีการสิ้นสุดการลงทะเบียนในวันที่ 15 พ.ค. 2560 โดยถือว่าเป็นโครงการที่มีความจำเป็นซึ่งประชาชนที่มีคุณสมบัติรายได้ต่ำกว่า1แสนบาทต่อปีจะต้องให้ความสำคัญในการไปลงทะเบียนตามสถานที่ที่รัฐบาลกำหนดภายในวันที่ 15 พ.ค.2560 

                 “เพื่อจะไม่พลาดโอกาสการเข้าถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลที่จะเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2561 ในวันที่ 1 ต.ค.2560 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการเข้าสู่ระบบใหม่การให้บริการบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย”  

                 นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สวัสดิการที่รัฐกำลังจะพิจารณาจัดสรรให้กับผู้มีรายได้น้อย ที่เป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจง ประกอบไปด้วยค่าน้ำค่าไฟค่ารถเมล์ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น

               ทั้งนี้ ล่าสุดมีประชาชนมาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยแล้วทั่วประเทศประมาณ 11 ล้านคน คาดว่าสิ้นสุดระยะเวลาลงทะเบียนจะมีคนมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 14 ล้านคน สูงกว่าการลงทะเบียนในปีก่อนที่มีการมาลงทะเบียน 8.3 ล้านคน มีผู้มีสิทธิได้รับการขึ้นทะเบียนคนจนจำนวนประมาณ 7.7 ล้านคน

              “การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรในอนาคตจะเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจง และระบบการช่วยเหลือของภาครัฐในอนาคตจะลงรายละเอียดไปถึงการช่วยเหลือภาคเกษตรทั้งชาวนาชาวสวนชาวสวนยางที่เกิดวิกฤตกับอาชีพในช่วงต่างๆรัฐบาลจะเจาะข้อมูลเข้าไปยังฐานข้อมูลอาชีพแต่ละคนอาทิหากชาวสวนเกิดวิกฤตราคายางตกต่ำรัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือก็จะโอนเงินเข้าไปยังผู้ถือบัตรคนจนเหล่านั้นตามข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กรอกไว้เมื่อครั้งลงทะเบียนคนจนไว้" นายกอบศักดิ์ กล่าว

                 นอกจากนั้น ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลารถเมล์และรถไฟฟรีออกไปอีกเป็นระยะเวลา 5 เดือนตั้งแต่วันที่1พ.ค.- 30ก.ย. 2560 คาดว่าจะใช้วงเงินในการดำเนินโครงการประมาณ 1,907 ล้านบาทแบ่งเป็นรถเมล์ฟรีวงเงิน 1,540 ล้านบาท และรถไฟวงเงิน367ล้านบาท

               สำหรับสาเหตุที่ขยายระยะเวลามาตรการออกไปอีกเพียง5เดือนไปสิ้นสุดระยะเวลาในเดือน ก.ย.นี้ ถือเป็นต่ออายุครั้งสุดท้าย เนื่องจากตั้งแต่วันที่1ต.ค.2560 รัฐบาลจะออกบัตรสวัสดิการเพื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยใช้ในการโดยสารรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรีเฉพาะคนที่ได้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐและได้รับบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น โดยทางกระทรวงคมนาคมจะเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมออกมารองรับพร้อมกันในวันที่ 1 ต.ค.เช่นกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ