ข่าว

เปิดมาตรการ‘ภาษี-รายได้’ รองรับ‘สังคมผู้สูงอายุ’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดมาตรการ‘ภาษี-รายได้’ รองรับ‘สังคมผู้สูงอายุ’

                      การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 2 พ.ค.60 มีการรายงานผลสรุปของคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรื่อง “การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งหลายหน่วยงานมีมาตรการต่างๆเพื่อมารองรับและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

                       กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการด้านการคลัง เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่เกี่ยวพันโดยตรงกับผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษีและรายได้ในการดำรงชีพ ในขณะที่หน่วยงานอื่นเป็นมาตรการระดับนโยบายและการจัดเตรียมอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน

มาตรการทางการคลัง สรุปได้ ดังนี้

ด้านสาธารณสุข

มาตรการภาษี ได้แก่  

1.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้ที่ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันสุขภาพบิดา มารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดา มารดาของสามี หรือภรรยาของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท  

2.ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้ ได้จ่ายเงินไป  สำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 แสนบาทในปีภาษีนั้น และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้นอีกในอัตรา 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท 

ด้านหลักประกันรายได้

มาตรการภาษี ได้แก่ 1.ยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)  ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท  และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ของสมาชิกที่ได้รับจาก กอช. เนื่องจากทุพพลภาพ หรือสิ้นสมาชิกภาพ หรือตาย

2.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่จ่ายเป็นเงินสะสม เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงิน หรือ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากตาย ทุพพลภาพ หรือ ลาออกจากงาน 

3.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในก่องทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 5 แสนบาท โดยต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี  และไถ่ถอนเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

4.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรีียนเอกชนเฉพาะส่วนไม่เกิน 5 แสนบาท และยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดา สำหรับเงินหรือผลประโยนช์ใดๆ  ที่ได้รับจากกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เพราะเหตุสูงวัย ทุพพลภาพ หรือตาย 

มาตรการรองรับสังคมสูงอายุ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2559  ดังนี้ 

1.มาตรการบูรณการระบบบำเหน็จบำนาญ  เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติและกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และอนุมัติร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... และร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ... โดยร่างกฎหมายทั้ง  2 ฉบับดังกล่าว ขณะนี้ได้ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

2.การจ้างงานผู้สูงอายุ เห็นชอบให้นายจ้างนำรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างสำหรับการจ้างสำหรับการจ้างบุคลากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)  มาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า สำหรับกรณีอัตราค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน  ทั้งนี้ นายจ้างสามารถขอใช้สิทธิได้ไม่เกิน 10%  ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด   โดยร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ในขั้นตอนทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย 

3. สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)  มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนำร่องพิจารณาดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อดังกล่าว เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สามารถนำที่อยู่อาศัยที่ตนมีกรรมสิทธิ์และปลอดภาระหนี้ มาเปลี่ยนเป็นรายได้ในการดำรงชีพเป็นรายเดือน

ด้านสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

​มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ เกี่ยวกับการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2559  ดังนี้

มอบมาย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ดำเนินโครงการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 5 แห่ง ในจ.ชลบุรี นครนายก เชียงราย และเชียงใหม่  โดยกำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมในอัตราเดียวกันกับโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ยกเว้น พื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูงให้กำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ผู้เช่าจะได้รับสิทธิในการเช่าเป็นระยะเวลา 30 ปี  โดยทางราชการอาจต่ออายุสัญญาเช่าออกไปอีกเป็นระยะเวลา 30 ปี 

มอบหมายการเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ดำเนินการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยให้นำหลักการของโครงการบ้านมั่นคงและบ้านประชารัฐมาใช้กับการดำเนินการดังกล่าว 

เห็นชอบให้ยกเว้นการนำกฎหมายผังเมืองมาบังคับใช้กับที่ราชพัสดุ  ที่กรมธนารักษ์ให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) 

ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคาอาคารสงเคาะห์ สนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Pre-finance)  ในวงเงินรวมไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และเห็นควรให้มีการจัดสรรวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Post-finance) เพื่อรองรับการดำเนินโครงการในระยะต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ให้บุตรที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูบิดามารดาที่สูงอายุ ได้รับสิทธิในการจองโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงสิทธิในการสนับสนุนสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวเป็นลำดับแรก 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ