ข่าว

ปตท. เร่งเจรจาสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะกลาง-ยาว เพิ่มเป็น 70

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปตท. เร่งเจรจาสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะกลาง-ยาว เพิ่มเป็น 70%

                นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. เตรียมเพิ่มสัดส่วนสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ระยะยาว 15-20 ปี และระยะกลาง 5 ปีขึ้นไป ให้ได้ 70% ที่เหลืออีก 30% เป็นการซื้อจากตลาดจร จากปัจจุบัน ปตท. มีสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาวและกลาง ที่สัดส่วน 60% และเป็นการซื้อจากตลาดจร 20% เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และสร้างสมดุลด้านราคาให้มากขึ้น หลังพบว่าแนวโน้มปริมาณการผลิตแอลเอ็นจีของโลกจะเกินความต้องการใช้ใน 4-5ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นจังหวะของผู้ซื้อ  

                ปัจจุบัน ราคาแอลเอ็นจีเฉลี่ย อยู่ที่ 8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู สูงกว่าราคาก๊าซฯในอ่าวไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และราคาก๊าซเมียนมา เฉลี่ยอยู่ที่ 6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่ในอนาคตแอลเอ็นจีจากทั้ง 2 แหล่งนี้จะค่อยๆหมดลง และเมียนมาก็มีความต้องการใช้แอลเอ็นจีมากขึ้น ทำให้ไทยจำเป็นต้องหันไปนำเข้าแอลเอ็นจี

                โดย ปตท. อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อแอลเอ็นจีกับ ปิโตรนาส ของมาเลเซีย อีก 1.2 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็นสัญญาที่ 4 จากเดิมที่ ปตท. ได้มีสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวและ 3 สัญญา จากกาต้า เชลล์ และบีพี รวม 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งสัญญาฉบับใหม่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่ทำสัญญาให้ส่งแอลเอ็นจีมาที่ท่าเรือมาบตาพุดเพียงแห่งเดียว เป็นสัญญาที่สามารถกำหนดจุดส่งมอบได้ทั่วโลก มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้ง ปตท. ยังมีแผนที่จะซื้อแหล่งก๊าซฯในโมซัมบิกเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ถือหุ้นอยู่ 8.5% 

                 นายวิรัตน์ กล่าวว่า ปตท.จะร่วมมือกับ ปตท.สผ. จัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน ขึ้นมาใหม่เพื่อเข้าไปลงทุนด้าน LNG Value Chain เน้นธุรกิจกลางน้ำโดยเฉพาะ เช่น การสร้างโรงงานเปลี่ยนสภาพก๊าซธรรมชาติเป็นของเหลว การขนส่ง และเทรดดิ้ง  ซึ่งในอนาคตอาจต่อยอดการลงทุนไปสู่ธุรกิจขั้นต้นและขั้นปลาย คาดว่าการตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

                "การที่ ปตท. มีส่วนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจร จะทำให้ลดความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของราคาก๊าซฯ เพราะหากก๊าซฯมีราคาแพงขึ้น ทำให้ปลายน้ำต้องใช้เงินซื้อเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันต้นน้ำ และกลางน้ำ เช่น ผลประกอบการแหล่งผลิตก๊าซฯ ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจก๊าซฯมีความผันผวนน้อยลง

                ปัจจุบัน ปตท. มีเงินสดในมือกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ และปตท.สผ. ก็มีเงินสดกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ พร้อมที่จะนำไปลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และสร้างความมั่นคงให้กับพลังงานไทยในอนาคต

                ส่วนความคืบหน้า การก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายแอลเอ็นจี แห่งที่ 1 ระยะที่ 2 อีก 5 ล้านตัน ซึ่งจะรองรับแอลเอ็นจีรวมได้ถึง 10 ล้านตัน ขณะนี้ใกล้เสร็จแล้ว และเตรียมก่อสร้างส่วนขยายเพิ่มอีก 1.5 ล้านตัน รวมเป็น 11.5 ล้านตัน จะเสร็จตามแผนในปี 2562  ขณะที่การก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีแห่งที่ 2 อีก 7.5 ล้านตัน จะเสร็จในปี 2565 ทำให้ในอนาคต ปตท. จะมีคลังรองรับแอลเอ็นจีสูงถึง 19 ล้านตัน 

                 “ในอนาคต ปตท. จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจ แอลเอ็นจี มีอำนาจการต่อรองได้มากขึ้น ซึ่งในระหว่างการประชุมGASTECH เมื่อเร็วๆนี้ ที่ญี่ปุ่น ก็มีผู้ผลิตแอลเอ็นจีหลายรายแสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมธุรกิจกับ ปตท. ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกระยะในการเจรจาต่อรอง ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุน”

                   ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกได้ประเมินว่าสัดส่วนการใช้พลังงานชนิดต่างๆในอีก 20 ปี ข้างหน้า จะเปลี่ยนไป โดยในขณะนี้มีสัดส่วนใช้ถ่านหิน 29% จะลดลงเหลือ 24% น้ำมัน 32% จะลดลงเหลือ 29% ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 24% เป็น 25% และพลังงานหมุนเวียนจาก 4-5% จะเพิ่มเป็น 10% ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าในอนาคตความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นแม้เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นไม่มาก แต่มีฐานการใช้ใหญ่มาก

                  นายวิรัตน์ กล่าวว่า ปตท.ยังมีแผนที่จะเจรจากับมาเลเซีย เรื่องการเพิ่มการรับซื้อก๊าซฯจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) เพื่อเข้ามาทดแทนก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย และเมียนมา ที่ค่อยๆลดลง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบป้อนให้กับโรงแยกก๊าซของไทย

                 สำหรับการลงทุนคลังแอลเอ็นจีแบบลอยน้ำ (เอฟเอสอาร์ยู) ที่เมียนมา ขนาด 3 ล้านตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งตามแผนเดิมจะสร้างให้เสร็จภายในปี 2570 แต่จากเทคโนโลยีปัจจุบันจะสามารถสร้างเสร็จได้ภายในปี 2567 โดยแอลเอ็นจีดังกล่าวจะส่งเข้ามายังประเทศไทย 2 ล้านตัน และอีก 1 ล้านตัน ส่งให้กับเมียนมา ซึ่งโครงการนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับโรงไฟฟ้าของไทย

                “การลงทุน เอฟเอสอาร์ยู เป็นการร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับ เมียนมาออยล์แอนด์แก๊สเอ็นเตอร์ไพรท์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของเมียนมา ขณะนี้ยังไม่ต้องการผู้ร่วมลงทุนเพิ่ม เพราะ ปตท. มีทั้งเงินทุน และทักษะการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ถ้าหากจะมีผู้ร่วมทุนรายใหม่ ก็จะต้องเข้ามาสร้างประเทศให้โครงการนี้เพิ่มขึ้น เช่น การขยายการลงทุนไปในส่วนของการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น”

                    ขณะที่โครงการลงทุนสร้างคลังแอลเอ็นจีในภาคใต้เพื่อป้อนก๊าซฯให้กับโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้นั้นยังจะต้องรอดูความชัดเจนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ใด และใช้เชื้อเพลิงประเภทใด

                        นอกจากนี้ ปตท.ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี  ศึกษารายละเอียดโครงการแยกก๊าซอีเทนจากแอลเอ็นจี เพื่อคำนวณศักยภาพการใช้ก๊าซอีเทนของ พีทีทีจีซี ในการสร้างโรงแยกก๊าซอีเทนให้มีขนาดที่เหมาะสม ซึ่งหากผลศึกษาพบว่ามีความคุ้มทุน ก็จะใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน ภายใต้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ