ข่าว

เยอรมัน และ สหราชอาณาจักร เลือกให้ทุนโครงการ ข้าวไทย NAMA

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เยอรมัน และ สหราชอาณาจักร เลือกให้ทุนโครงการ ข้าวไทย NAMA

           เยอรมัน และ สหราชอาณาจักร ได้เลือกสนับสนุนโครงการ NAMA จำนวน 7 โครงการ จากการประกาศให้ทุนในครั้งที่ 4 ซึ่งรวมทั้ง โครงการ การปลูกข้าวตามแนวทางที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดยมีความมุ่งมั่นที่จะให้เงินทุนถึง 60 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,200 ล้านบาท สนับสนุนการดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ในการบรรเทาผลกระทบต่อภูมิอากาศอย่างสำคัญในระดับประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions หรือ NAMA)

           กระทรวงเพื่อสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยด้านการก่อสร้างและนิวเคลียร์ แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (BMUB) และ กระทรวง ธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม (BEIS) แห่งสหราชอาณาจักร ร่วมกันจัดตั้งโครงการ NAMA (NAMA Facility) เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ต้องการแสดงความเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และต้องการที่จะดำเนินมาตรการ ปกป้องสภาพภูมิอากาศอย่างสำคัญ โครงการข้าวไทย NAMA ถูกเสนอเข้าร่วมการคัดเลือก จากความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเป็นกระทรวงพันธมิตร และองค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) เป็นผู้ร่วมสมัคร

          เกษตรกรรมเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) มากที่สุดเป็นอันดับที่สองของประเทศไทย และในเวลาเดียวกันยังมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การผลิตข้าวในไทยไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเกือบ 60% ของไทยจากกิจกรรมทางการเกษตร แต่ยังนับเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวมากเป็นอันดับที่สี่ของโลกอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน

          เวทีเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (Sustainable Rice Platform) ซึ่งเป็นพันธมิตรประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน ร่วมจัดการประชุมโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment) และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในภาคการผลิตข้าวทั่วโลก ได้แนะนำมาตรฐานการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนโดยความสมัครใจมาตรฐานแรกของโลก มาตรฐาน SRP นี้ กำหนดกรอบสำหรับการปลูกข้าวที่ทันสมัยที่นำไปสู่ผลกำไรสุทธิ ผลผลิตที่สูงขึ้น ความปลอดภัยของอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และที่สำคัญ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

            นอกจากนี้ ในการเพาะปลูกข้าวที่มีการชลประทาน การเปลี่ยนจากวิธีแบบเดิมมาสู่การจัดการน้ำ เปียกสลับเเห้ง ในเเปลงนา (Alternate Wetting and Drying) และการปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างมีนัยสำคัญ

            โครงการ ข้าวไทย NAMA จะครอบคลุมชาวนาถึง 100,000 ครัวเรือนในประเทศไทย ให้เปลี่ยนจากการทำนาแบบเดิมมาสู่วิธีการแบบใหม่ที่ลดการปล่อยก๊าซ โดยร่วมมือกับเกษตรกรและสมาคมเกษตรกรต่างๆ เช่นเดียวกับ ผู้ให้บริการภายนอกในการปรับแนวทางการเกษตรกรรม และพัฒนารูปแบบการสร้างแรงจูงใจที่เกี่ยวข้อง (เช่น สำหรับการปรับพื้นนา) วมทั้งการสนับสนุนทางการเงิน โครงการ ข้าวไทย NAMA จะมุ่งเน้นไปที่หกจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย คือ ชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี อยุธยา และ สุพรรณบุรี และมีแผนที่จะส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับชาติและระดับภูมิภาค

            ในเดือนกันยายนปี 2559 รัฐบาลไทยให้สัตยาบันข้อตกลงปารีส เป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อการลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และจำกัดภาวะโลกร้อน ข้อตกลงปารีส ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 กำหนดให้ทุกฝ่ายในที่ประชุมพยายามอย่างดีที่สุดผ่าน "แผนสนับสนุนในระดับประเทศอย่างมุ่งมั่น” (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) พร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งในความพยายามต่อไปในอนาคต ตามแผนสนับสนุนในระดับประเทศอย่างมุ่งมั่นของไทย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงอย่างน้อย 20% ภายในปี 2573 เพื่อที่จะบรรลุการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในภาคการเกษตรของประเทศโดยรวม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเพาะปลูกข้าว

            การเปลี่ยนมาสู่การเพาะปลูกข้าวที่ลดการปล่อยก๊าซ คาดว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent หรือ CO2e) ถึง 1.664 ล้านเมตริกตัน สะสมในช่วงอายุโครงการ 5 ปี พร้อมอาจบรรเทาผลกระทบเพิ่มขึ้นอีกในแต่ละปีโดยลดการปล่อยก๊าซจากนาข้าวชลประทานที่ทำการวัดในตอนต้นลงมากกว่า 26%

         อย่างไรก็ตาม เยอรมัน และ สหราชอาณาจักร เลือกสนับสนุน 7 โครงการด้วยการให้ทุนสำหรับการเตรียมรายละเอียดของโครงการประเทศที่ได้รับการสนับสนุนในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย บราซิล เม็กซิโก (2 โครงการ) ฟิลิปปินส์ ประเทศไทย ตูนิเซีย และยูกันดา ในตอนท้ายของขั้นตอนการเตรียมรายละเอียดของโครงการ โครงการ NAMA จะทำการตัดสินเลือกโครงการเพื่อการสนับสนุนให้ดำเนินโครงการต่อไป

           สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ สำนักเลขาธิการ BRIA ภูมิภาค โทร.2255 4202, ต่อ. 111

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ