ข่าว

พิชิต’สั่งปรับแผน แก้ปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ขาดทุน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิชิต’สั่งปรับแผน แก้ปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ขาดทุน

                  นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ และบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทยวานนี้ (10 เม.ย.) ว่าปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์มีผู้โดยสารเฉลี่ย 6 หมื่นคนต่อวันและเคยสูงสุดอยู่ที่ 8.5 หมื่นคนต่อวัน แต่องค์กรก็ยังประสบปัญหาขาดทุน 300 ล้านบาทต่อปีและมีจำนวนรถไม่เพียงพอต่อความต้องการ

               ดังนั้นต้องแก้ปัญหาด้วยการเร่งจัดซื้อรถไฟฟ้าใหม่อีก 7 ขบวน จากปัจจุบันมีอยู่ 9 ขบวน เพื่อให้ความสามารถในการรอบรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 1.3 แสนคนต่อวันและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าให้เปิดประมูลจัดซื้อได้ภายในปีนี้ 

            นอกจากนี้ จะต้องปรับโมเดลธุรกิจให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณ บุคคลกร และกำไรขาดทุนได้เอง พร้อมต้องเปลี่ยนจากการรับจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เดินรถ เป็นเดินรถด้วยตัวเอง ซึ่งเบื้องต้นอาจจะต้องเช่ารางจาก ร.ฟ.ท. ในราคาถูก

             “การบริหารจัดการในรูปแบบบริษัทจะทำให้แอร์พอร์ต เรล ลิงค์มีแรงจูงใจในการทำกำไรให้องค์กรมากขึ้น โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของรูปแบบธุรกิจภายในปีนี้” นายพิชิตกล่าว

                ขณะเดียวกันสั่งการให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ จัดทำแผนพัฒนาทรัพย์สินในเชิงพาณิชย์กลับมาเสนอภายใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะแผนพัฒนาทรัพย์สินบริเวณสถานีต่างๆ และบริเวณที่จอดรถ เนื่องจากที่ผ่านมายังใช้ประโยชน์จากพื้นที่สถานีเพื่อสร้างรายได้ไม่มากนัก และยังสั่งการให้เร่งจัดหาตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่เข้ามาบริหารโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าภายใน 2 เดือนน่าจะเรียบร้อย

            ส่วนกรณีที่จะรวมโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เข้าด้วยกันว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ควรมีทิศทางอย่างไร เพราะคณะกรรมการนโยบายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องพิจารณารายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูงให้จบก่อน จากนั้นจะพิจารณาความเหมาะสมของผู้บริหารโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงและกำหนดทิศทางของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ไปพร้อมกัน สิ่งที่ชัดเจนตอนนี้คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงจะประมูลด้วยรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) 

            ส่วนจะให้โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์อยู่กับ ร.ฟ.ท. เช่นเดิม หรือจะให้เอกชนผู้รับสัมปทานนำไปบริหารนั้น ก็เป็นไปได้ทั้ง 2 รูปแบบ ซึ่งคณะกรรมการอีอีซีก็จะเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุด แต่ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันบุคลากรของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ก็มีคุณภาพสูงมากและมีศักยภาพในการบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูงได้

               นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัดเปิดเผยว่า รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ทบทวนเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) โครงการจัดซื้อรถไฟฟ้า 7 ขบวนเรียบร้อยแล้ว โดยร่างทีโออาร์ใหม่ได้ปรับปรุงรายละเอียดบางส่วนตามที่มีข้อโต้แย้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการปรับปรุงทีโออาร์ตามที่มีข้อโต้แย้งทั้งหมด เพราะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม แต่รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ก็ได้อธิบายรายละเอียดและเหตุผลสำหรับส่วนที่ไม่ได้แก้ไขไว้ในทีโออาร์อย่างชัดเจนแล้วมูลค่าโครงการน่าใกล้เคียง 4,400 ล้านบาทเท่าทีโออาร์เดิม

             สำหรับการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าขบวนใหม่จะทำให้แอร์พอร์ต เรล ลิงค์มีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์มีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 72,000 คนต่อวัน ซึ่งเฉลี่ยแล้ววันจันทร์-ศุกร์มีผู้โดยสารประมาณ 68,000 คนต่อวัน แต่ในวันศุกร์จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75,000 คนต่อวัน ซึ่งเกินความสามารถในการรองรับได้

              สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เป็นระบบเปิดนั้น เบื้องต้นต้องรอความชัดเจนจาก ร.ฟ.ท. ว่าจะให้ดำเนินการเลย หรือเปลี่ยนทั้งระบบอาณัติสัญญาณพร้อมกับก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ