ข่าว

"บิ๊กตู่"เผยนักธุรกิจแฮปปี้ถกอีอีซี.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บิ๊กตู่"เผยนักธุรกิจแฮปปี้ถกอีอีซี เร่งสร้างความเชื่อมั่นลดความหวาดระแวง ฝันต่อยอดมีระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เหนือ ออก ตก เชื่อมเพื่อนบ้าน ขออย่าสร้างความแตก

 


          5 เม.ย.60 - ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา จ.ระยอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และเยี่ยมชมโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาว่า วัตถุประสงค์ของอีอีซี คือต้องการสร้างฐานเศรษฐกิจในประเทศ โดยเหตุผลเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในประเทศ ดังนั้นต้องเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก เน้นการจะเจริญเติบโตภายใน ตนเป็นห่วงในเรื่องของการใช้งบประมาณในระยะยาว ซึ่งต้องมีรายได้ที่เพียงพอเพื่อมาดูแลคนในประเทศ รัฐบาล คสช.ไม่ได้ส่งเสริมให้คนมีรายได้อย่างเดียว แต่ต้องการให้เกิดความเข้มแข็งพัฒนาตัวเอง ก้าวสู่เศรษฐกิจ 4.0 ถ้าไม่พัฒนารัฐบาลและประชาชนก็จะมีปัญหาในวันข้างหน้า ดังนั้นต้องสร้างความเข้มแข็งไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการปรับระเบียบกติกาเพื่อเอื้อต่อการลงทุนในด้านต่างๆ
          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อีอีซีถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ไม่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง วันหน้าอาจจะมีระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ใต้ ออก ตก เชื่อมต่อด้านเศรษฐกิจกับประชาคมโลก วันนี้เรามีเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัดแล้ว วันหน้าจะต้องเจริญเติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะอยู่คนเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีมิตรประเทศมาร่วมลงทุน ซึ่งจากการพูดคุยกับนักธุรกิจ ต่างมีความพอใจในโครงการต่างๆที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐบาลกับนักลงทุนให้ได้ เพื่อลดความหวาดระแวง โดยสร้างผลประโยชน์ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม เกิดผลแก่ประชาชนโดยรวม การดำเนินการจากกระทบต่อประชาชนในพื้นที่บ้าง แต่รัฐบาลพร้อมดูแล
          "อย่าเพิ่งไปแตกตื่นตกใจ แล้วนำไปสู่ความไม่ร่วมมือ ขอร้อง ความก้าวหน้าในปัจจุบันคือเรื่องกฎหมาย สิทธิประโยชน์ รับฟังอุปสรรคต่างๆในการลงทุน ซึ่งเตรียมการอย่างอื่นไว้ค่อนข้างจะเรียบร้อยแล้ว ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวก เรื่องกฎหมายที่เดินหน้ามาโดยตลอด นั้นคือสิ่งที่เราปฏิรูปมาตลอด ถ้าไม่ปฏิรูปอย่างนั้น ไม่คิดเรื่องเล็กๆเหล่านี้มาก่อน จะทำวันนี้ไม่ได้เลย เราใช้เวลาถึง 2 ปีกว่า ถึงจะเดินหน้าได้มาถึงวันนี้ ก่อนที่จะเดินไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถือเป็นการเริ่มต้นที่ทุกอย่างไม่สามารถได้มาเร็ว หรือได้มาโดยเปล่า"นายกฯกล่าว
          นายกฯ ยังกล่าวอีกว่า เรารับฟังข้อเสนอแนะ จากผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งมีท่าทีและแนวโน้มให้ความสนใจมาก พร้อมมีความพอใจกับการที่เราเตรียมการรองรับไว้ได้ทั้งหมด ตนอยากเน้นย้ำว่า การพัฒนาที่สำคัญคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เร่งรัดการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีหลายหน่วยงานต้องค่อยๆปรับแก้ออกมา โดยตนจะเน้นย้ำปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด คือแรงงานที่มีฝีมือ และตนอยากให้ประเทศไทยมีการพัฒนาในเรื่องภาษา ขณะที่สิ่งที่เรายังขาดอยู่วันนี้ คือ แรงกระตุ้น คนไทยไม่ได้น้อยหน้ากว่าใครหรือไม่เก่ง คนไทยฉลาด แต่ต้องใช้ความฉลาดเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความกระตืนรือร้น และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกรัฐบาลบูรณาการ 
          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ตนขอฝากพรุ่งนี้ช่วยกันสร้างสิ่งดีๆให้กับประเทศไทยใหม่ ถ้าไม่ทำวันนี้ อนาคตมันก็ไม่มี ต้องทำวันนี้แก้ไขปัญหาเดิมทำวันนี้ให้เดินหน้า และสร้างอนาคตจากวันนี้ไปวันหน้า ด้วยการเริ่มต้นโครงการลักษณะแบบนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาที่มีรัฐบาลก็จะสานต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สำคัญขอขอบคุณกองทัพเรือ "หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดเศรษฐกิจมาเกี่ยวกับกองทัพเรือ จะเอาประโยชน์ให้กองทัพเรือหรือเปล่า ตนขอบอกว่าไม่ใช่ เดี๋ยวมาเป็นประเด็นเหมือนกับอย่างอื่น พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของหน่วยงานความมั่นคง"ในวันนี้เรามีข้อตกลงข้อหารือระหว่างกันในการใช้ประโยชน์ทั้งสองส่วนคือเชิงพาณิชย์และความมั่นคงให้ได้ โดยมีการจัดทำพื้นที่ต่างๆ เรียบร้อยทั้งวันนี้และอนาคตขอให้เข้าใจกันด้วย
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามประเด็นใดๆ ทั้งสิ้น โดยกล่าวว่า ขอให้ถามแต่เรื่องดีๆ จากรัฐมนตรีที่จะแถลงข่าวต่อจากตัวเองเท่านั้น จากนั้น นายกฯและคณะ ขึ้นเครื่องเดินทางกลับกทม.
          ขณะที่พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบกับคณะภาคเอกชนในวันนี้ พร้อมแสดงความขอบคุณในความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทย และขอบคุณในความร่วมมือที่มีให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด 
          โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้แนะนำคณะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการหารือ อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
          นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนารมย์อย่างมุ่งมั่น ที่จะทำให้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นการสร้างอนาคตของประเทศไทย  ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ทั้งทางด้านกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ตามการพัฒนาต้องเป็นไปอย่างสมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 
          "นายกฯเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะเป็นประโยชน์อย่างสูงกับประเทศไทย ภูมิภาค CLMV รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะดูแลประชาชนโดยรอบให้ได้รับประโยชน์สูงสุด มีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง มีรายได้ที่เพียงพอ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดหาบุคลากร พัฒนาด้านการศึกษา การผลิตคน เพื่อให้รองรับการเติบโตของระเบียงเศรษฐกิจในอนาคต" พล.ท.วีรชน กล่าว
          พล.ท.วีรชน กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในวันนี้จะเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะมีการหารือถึงแผน EEC  การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ  เขตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิตัล  และการสร้างเมืองใหม่ ในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นต้น
          โอกาสนี้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
          นอกจากนี้ ทาง BMW แสดงความขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในไทยมาโดยตลอด โดยเห็นว่า EEC จะเป็นประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าแก่บริษัทฯ และยืนยันความพร้อมในการทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
          ขณะที่ LAZADA กล่าวว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 5 ปี ในด้าน E-commerce โดยหวังให้รัฐบาลพัฒนาด้านบุคลากรเพื่อรองรับด้านดิจิทัลในอนาคต ด้าน Toyota กล่าวว่าบริษัทฯ มีแผนการลงทุนในไทยอย่างเต็มที่ โดยมีพื้นที่การผลิตหลักอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ดี ขอให้รัฐบาลดูแลเรื่องถนนหนทางที่ขาดแสงสว่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
          ส่วน PPT GC กล่าวว่าพร้อมให้การสนับสนุน EEC อย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าการพัฒนาด้านการศึกษา เทคโนโลยีระดับสูง นวัตกรรม และการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ Google และ Microsoft ได้แสดงความคิดเห็นด้านนวัตกรรม และความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร การลงทุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล 
          ก่อนจบการหารือนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณภาคเอกชนที่ร่วมหารือในวันนี้ และขอบคุณในข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในด้านการศึกษานั้นขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลกำลังพัฒนาบุคลากรอย่างเต็มที่ เพื่อให้รองรับต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียินดีหากทุกท่านจะมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยขอให้ภาคเอกชนมั่นใจว่า EEC จะเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นายกรัฐมนตรีขอให้ภาคเอกชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างประโยชน์ร่วมกัน และลดความหวาดระแวง พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลยินดีเปิดรับภาคเอกชนทุกราย

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ