ข่าว

ค่ายรถยนต์สนใจ มาตรการหนุนรถยนต์ไฟฟ้า     

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

               หลังจากที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีมติส่งเสริมการผลิตรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมทั้งรถไฮบริด ปลั๊กอิน ไฮบริด รถพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วน และการลงทุนสาธารณูปโภค อย่างเช่น สถานีชาร์จไฟ ก่อนนำเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มี.ค.60 ที่ผ่านมา ได้รับการขานรับจากผู้ผลิตรถยนต์ที่จะเดินหน้าศึกษารายละเอียด แม้ว่าจะมีข้อสงสัยบางอย่าง โดยเฉพาะแนวคิดของกรมสรรพสามิตที่จะลดภาษีรถไฮบริดทุกประเภท 50% หากมีการผลิตแบตเตอรีในประเทศ

             ปัจจุบัน รถไฮบริดเสียภาษีตามอัตราการปล่อยคาร์บอนออกไซด์ แบ่งเป็น 3 ระดับคือ ต่ำกว่า 100 กรัมต่อกม. เสียภาษี 10% 100-150 กรัมต่อกม. เสียภาษี 20% และ 151-200 กรัมต่อกม.เสียภาษี 25%

         ทั้งนี้ ค่ายรถมองว่าแนวทางอัตราภาษีใหม่ จะทำให้รถไฮบริดเสียภาษีต่ำลงมาอย่างมาก โดยต่ำสุดคือ 5% ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวทางการส่งเสริมอื่นๆ เช่น โครงการอีโค คาร์ เฟส 2 ที่รัฐกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตไว้ที่ 14% และหากใช้เชื้อเพลิงอี 85 ได้จะเหลือ 12% ซึ่งก็สูงกว่ารถไฮบริดค่อนข้างมาก

           ทั้งนี้อีโค คาร์ เฟส 2 ผู้ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จะต้องลงทุนภายในปี 2562 ซึ่งขณะนี้ มีเพียงมาสด้าค่ายเดียวที่ผลิตรถออกมาจำหน่ายในตลาดแล้ว ส่วนค่ายอื่นยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด 

              นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวทางของกรมสรรพสามิตอาจจะดูขัดแย้งกับการแนวทางการส่งเสริมอื่นๆอยู่บ้าง แต่เข้าใจเป็นเพราะภาครัฐเองก็ต้องมองในประเด็นว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นรัฐจะต้องพยายามกำหนดกฎเกณฑ์ที่รองรับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้ได้

               นอกจากนี้ รัฐก็ต้องพยายามที่รักษาความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอาไว้ให้ได้ จึงต้องมองหาเงื่อนไขต่างๆที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีมากขึ้น เนื่องจากหลายประเทศก็สนใจเรื่องนี้เช่นกัน เช่น มาเลเซีย ที่มีโครงการกรีนคาร์แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถเดินหน้าได้เนื่องจากกระทบกับโครงการรถยนต์แห่งชาติ 2 ยี่ห้อ คือ โปรตอน และเปอโรดัว 

           นายอังตวน บาร์เตส กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมของภาครัฐเป็นเรื่องที่ดี และนิสสันก็เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือกมาโดยตลอด รวมถึงเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันในเวทีโลกนิสสันเป็นผู้นำตลาด มียอดขายสูงสุด คือ 2.5 แสนคันทั่วโลก

          อย่างไรก็ตาม แม้นิสสันจะสนใจการทำตลาดในไทย แต่จะต้องใช้เวลาศึกษาความพร้อมอีกระยะหนึ่งว่าเทคโนโลยีใด จะเหมาะสมกับไทย รวมถึงความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

           “นิสสันสนใจระบบไฟฟ้ามานาน แต่ทั้งนี้การจะทำอะไรก็ต้องความพร้อมอื่นๆด้วย รวมถึงต้องมองในเชิงธุรกิจว่ามีความเหมาะสม ความคุ้มค่าหรือไม่ รวมถึงดูความคาดหวังและการยอมรับของตลาด อีกทั้งจะต้องรอรายละเอียดปลีกย่อยที่แน่ชัดจากภาครัฐก่อน”

             นายบาร์เตส กล่าวว่า แม้นิสสันจะยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเริ่มต้นโครงการได้เมื่อไร แต่ยืนยันว่าบริษัทจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐต่อไป รวมถึงจะนำสินค้าเข้ามาเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับตลาดอีกด้วย 

              นายโมริคะซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในตลาดโลก มิตซูบิชิ วิจัยและพัฒนาพลังงานไฟฟ้ามากว่า 50 ปี และปัจจุบันจำหน่ายทั้งรถพลังงานไฟฟ้า (BEV) และปลั๊กอิน ไฮบริด (PHEV) ทั้งในญี่ปุ่น และยุโรป ดังนั้นในด้านผลิตภัณฑ์จึงมีความพร้อมหากจะทำตลาดในไทย และเห็นว่าหากมองระยะยาว ไทยก็จะต้องเดินไปตามทิศทางของโลกที่มุ่งไปที่พลังงานไฟฟ้า

              แต่ระยะสั้นจำเป็นที่จะต้องศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน และความพร้อมของสาธารณูปโภคก่อน เช่น สถานีชาร์จไฟที่จะต้องครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้รถพลังงานไฟฟ้าสามารถเดินทางไป-กลับได้

              ในส่วนของรายละเอียดการส่งเสริมภาครัฐซึ่งมีทั้งไฮบริด ปลั๊กอิน ไฮบริด และบีอีวีนั้น เห็นว่า หากมองถึงเป้าหมายอย่างหนึ่งของการส่งเสริมพลังงานไฟฟ้าคือการลดปัญหาโลกร้อน เห็นว่า รถไฮบริดไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ดั้งนั้นมิตซูบิชิจะไม่สนใจพัฒนาไฮบริด แต่จะมุ่งเฉพาะปลั๊กอิน ไอบริด กับบีอีวี เท่านั้น ส่วนการที่ปัจจุบันที่ญี่ปุ่น นิสสัน มอเตอร์ เข้ามาถือหุ้นในมิตซูชิ มอเตอร์ ก็อาจจะเป็นไปได้ในการที่จะมีการใช้ชิ้นส่วนบางรายการร่วมกันในอนาคตในเมืองไทย

              นายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า อีซูซุกำลังติดตามศึกษารายละเอียดมาตรการส่งเสริมภาครัฐ เนื่องจากปัจจุบันอีซูซุ มีเทคโนโลยีไฮบริดซึ่งพร้อมนำมาใช้กับการผลิตในไทยหากพบว่ามีโอกาสทางการตลาดที่ดีพอ

              นอกจากนี้ ก็จะต้องใช้เวลาในการศึกษาตลาด ศึกษาความต้องการของลูกค้า ซึ่งในเบื้องต้นช่วงนี้ลูกค้าปิกอัพยังไม่สนใจ เพราะมองว่าเครื่องยนต์ดีเซลเหมาะสมที่สุดในขณะนี้ แต่เชื่อว่าทุกอย่างต้องใช้เวลาในการให้ข้อมูลและความเข้าใจก่อน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ