ข่าว

นายกฯเร่งดันนครพนมเขตศก.พิเศษระยะ2

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

             วันที่ 27 มี.ค. 60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินสายต่างจังหวัด ตรวจราชการจังหวัดนครพนม ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวง เข้าร่วมด้วย พร้อมมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ส่วนกลางและ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร)

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจราชการต่างจังหวัดบ่อยครั้ง โดยสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ท่าอากาศยานอูตะเภา

การเดินทางตรวจราชการในจ.นครพนม ถือว่าเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพื่อต้องการที่จะเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ยังมีรายได้เฉลี่ยในระดับที่ต่ำเฉลี่ยเพียง 5-6 พันดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปีเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตทำให้เกิดปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบตามมา

รัฐบาลเร่งรัดปัญหาที่สะสมเช่นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ขณะเดียวกันก็พยายามวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวโดยเป้าหมายคือการทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ในที่สุดซึ่งพื้นฐานการทำงานในระยะ5ปีแรก (2560-2564) ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมของประเทศ

นายกรัฐมนตรีระบุว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องพัฒนา 3 ส่วนทั้งเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยสนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็ต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศและสร้างรายได้กลับเข้ามาในประเทศเช่นกัน

ส่วนเศรษฐกิจระดับกลางเกี่ยวข้องกับการค้ามากที่สุด ขณะนี้รัฐให้ความสำคัญกับการค้าขายกับเพื่อนบ้านและภูมิภาค CLMV สร้างการเชื่อมโยงการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม และเชื่อมโยงไปยังความร่วมมือในอาเซียนและอาเซียนบวก3และบวก6 ซึ่งได้อนุมัติงบประมาณในการสร้างถนนและเส้นทางเชื่อมโยง การพัฒนาด่านศุลกากร และสนามบินเป็นต้น

ส่วนสุดท้ายคือการพัฒนาและแก้ปัญหาระดับฐานราก ซึ่งมีปัญหาและแก้ไขได้ยากซึ่งอาจจะมาจากการขาดความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจระดับกลางและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้เพียงพอ รวมทั้งปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำที่ทำให้รายได้ลดลงขณะที่สินค้าอื่นๆเช่นสินค้าเทคโนโลยีแพงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมาคิดวางแผนการแก้ปัญหาระยะยาว 

นอกจากนี้รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดขึ้นคือเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.นครพนม ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจระยะที่2 แต่พิจารณาจากศักยภาพแล้วนครพนมสามารถพัฒนาได้เร็ว ซึ่งรัฐบาลเองจะเร่งเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่ จุดใดที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดินถ้าจำเป็นจะต้องทำก็ต้องมีการชดเชยให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

รัฐบาลสนับสนุนให้มีการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมหลักและ 13 กิจการย่อยในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ลงทุนแล้วนั้นประกอบด้วยด่านศุลกากร ศูนย์ขนส่งสินค้า สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถนนหลวงหมายเลข 221 รถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มหาสารคาม รวมถึงสายอื่นๆ ที่ในอนาคตจะเชื่อมโยงไปให้ถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อไปยังเพื่อนบ้าน รวมถึงระบบไฟฟ้า พลังงานและระบบน้ำที่ต้องเพียงพอ

“การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจ.นครพนม ซึ่งอยู่ในระยะที่ 2 ก็เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโดยได้อนุมัติงบประมาณในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งด่านศุลกากรถนน รถไฟทางคู่ และสนามบินเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่านครพนมถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยอยู่ในระยะที่ 2 ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมต่อจาก 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรก

ขณะนี้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากในปี 2557 มูลค่าการค้าชายแดนอยู่ที่ ประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปีแต่ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่าการส่งเสริมให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มปริมาณและมูลค่าการค้าชายแดนมากขึ้น

ภายในเดือนมิ.ย.นี้ สศช.จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาเห็นชอบการเปิดประมูลให้เช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่เพื่อให้เอกชนที่สนใจประมูลเช่าพื้นที่เพื่อไปพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนต่อไปซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนพัฒนาพื้นที่และวางโครงสร้างพื้นฐานภายในนิคมฯที่จะเกิดขึ้นประมาณ 1,000 ล้านบาท

“อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวและมีเอกชนมีความสนใจในการลงทุนในพื้นที่ได้แก่ อุตสาหกรรมสินค้าเกษตร การทำแพคเกจจิ้ง การขนส่ง คลังสินค้า ที่จะเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้าน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ พื้นที่จ.นครพนมมีการประกาศให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใน 2 อำเภอ 13 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 744.79 ตารางกิโลเมตร หรือ 465,493.75 ไร่ ประกอบด้วย อำเภอเมืองนครพนม 10 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 554.58 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ ตำบลกุรุคุ ตำบลท่าค้อ ตำบลนาทราย ตำบลนาราชควาย ตำบลในเมือง ตำบลบ้านผึ้ง ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลหนองญาติ ตำบลหนองแสง และตำบลอาจสามารถ อำเภอท่าอุเทน 3 ตำบล ครอบคลุม พื้นที่ 190.21 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ ตำบลโนนตาล ตำบลรามราช และตำบลเวินพระบาท

 สำหรับการประชุมกรอ. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัดและผู้แทนภาคเอกชนเกี่ยวกับโครงการการพัฒนาจ.นครพนม จ.สกลนครและจ.มุกดาหาร ในหลายโครงการซึ่งจะใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีกประมาณ 1 พันล้านบาทเศษ 

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาเพิ่มเติมและไปดูว่าจะจัดสรรงบประมาณจากส่วนใดโดยอาจจะเป็นงบประมาณจากงบกลางสำรองจ่ายรายการฉุกเฉินและจำเป็นปี 2560 หรืองบประมาณปี 2561 ตามการเสนอของหน่วยราชการต่างๆต่อไปเนื่องจากเป็นส่วนที่นอกเหนือจากงบประมาณ กลุ่มจังหวัดที่รัฐบาลจัดสรรให้ จากส่วนของบกลางปีวงเงิน 1 แสนล้านบาท

ในส่วนของความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมนั้น ขณะนี้ก็มีหลายโครงการของโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ดำเนินการแล้วโดยล่าสุดได้อนุมัติ เงิน 800 ล้านบาทเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในหลายโครงการในพื้นที่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ