ข่าว

ฟลอริด้า แหล่งต้นพันธุ์ปลาทับทิม สู่เมนูปลาโอเมก้าสูง 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย- โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

       แม้ว่า “ปลาทับทิม” จะไม่ใช่ปลาพื้นบ้านของไทย แต่กลับได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยมาถึง 20 ปี ด้วยลักษณะเด่นที่เกล็ดมีสีชมพูสวย เนื้อปลามีเส้นใยกล้ามเนื้อแน่น ละเอียด รสชาติอร่อย 
       ที่สำคัญยังมีความเป็นมาที่ไม่ธรรมดา น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผู้บุกเบิกการพัฒนาสายพันธุ์ปลาทับทิม เล่าว่า ต้นกำเนิดพันธุ์ปลาทับทิมอยู่บนเกาะเล็กๆที่เหมือนโขดหินโผล่ในทะเล ชื่อ LEE-Stocking Island ในบาฮามาส ฟลอริด้า ที่สหรัฐเป็นผู้ครอบครอง และรัฐบาลต้องการให้คนบนเกาะเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาหารและสร้างอาชีพ แต่ด้วยเกาะนี้มีแหล่งน้ำจืดไม่มากนัก จึงสนับสนุนการวิจัยปลาน้ำจืดให้สามารถเลี้ยงได้ในน้ำเค็ม โดยใช้วิธีผสมข้ามสายพันธุ์และคัดพันธุ์ จนได้ปลาสีแดงทนเค็มที่เรียกกันว่า “Red Florida” ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับปลานิล (Tilapia) ส่วนปลานิลที่มีสีแดงก็จะเรียกกันตามสีของผิวปลาว่า ปลานิลแดง (Red Tilapia) 
      เวลานั้นการเลี้ยงกุ้งในระบบปิดของไทย ประสบปัญหาการระบาดของโรคหัวเหลืองตัวแดง ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียน โดยน้ำต้องผ่านการบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การนำปลามาเลี้ยงร่วมในระบบเดียวกับกุ้ง เพื่อให้ปลาช่วยกำจัดตะกอนในน้ำทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น แต่เนื่องจากกุ้งต้องเลี้ยงในน้ำเค็ม ซึ่งในเวลานั้นมีเพียงปลาหมอเทศเท่านั้นที่เหมาะสม แต่เมื่อมองในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว ปลาหมอเทศกลับไม่ตอบโจทย์เพราะราคาถูกมากและคนก็ไม่นิยม ซีพีเอฟจึงเกิดประกายความคิด ในการเสาะหาปลาสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถเลี้ยงในน้ำเค็มได้ และต้องสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงธุรกิจได้ด้วย จึงได้นำปลา “Red Florida” จากเกาะ LEE-Stocking เข้ามาใช้เป็นต้นสายพันธุ์ปลาเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ทำให้เวลานั้นในประเทศไทยมีทั้งปลานิลแดงของกรมประมง และปลา “Red Florida” จากเกาะ LEE-Stocking
       ซีพีเอฟพัฒนาสายพันธุ์ปลาด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรม โดยนำปลา Red Florida มาผสมข้ามสายพันธุ์กับปลานิลแดงที่มีลักษณะเด่นมากในด้านต่างๆ อาทิ อิสราเอล และไต้หวัน ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5-6 ปีจึงสำเร็จ ได้สายพันธุ์ที่นิ่ง คือมีสีแดงสม่ำเสมอ แข็งแรง ต้านทานโรคดี สามารถทนความเค็มได้สูงจึงเลี้ยงให้เติบโตได้ดีทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานชื่อ “ปลาทับทิม” ในปี 2541 และกลายเป็นปลาเศรษฐกิจยอดนิยมมาจนถึงปัจจุบัน 
       ที่สำคัญการเลี้ยงปลาทับทิมในน้ำเค็ม ทำให้คุณค่าทางโภชนาการชองปลามีแนวโน้มไปทางปลาทะเลที่ปกติไขมันในตัวปลาจะมีโอเมก้า 3 และยิ่งเลี้ยงในทะเลด้วยอาหารคุณภาพดีด้วยแล้ว ก็จะมีโอเมก้า 3 สูงถึง 182 มก. ต่อเนื้อปลา 100 กรัม หรืออาจพูดได้ว่า “ปลาทับทิมเป็นปลาที่เพาะเลี้ยงง่ายแบบปลาน้ำจืด แต่ให้คุณค่าทางอาหารแบบปลาทะเล”...จึงถือเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้รักสุขภาพอย่างยิ่ง และยังเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ปลาที่น่าสนใจนำไปเพาะเลี้ยงสำหรับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่น้ำเค็ม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ