ข่าว

รู้ลึกกับจุฬา จากแวตถึงการปรับระบบภาษี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้ลึกกับจุฬา จากแวตถึงการปรับระบบภาษี

           เมื่อไม่นานมานี้ กรณีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวต (VAT) ร้อยละ 1 กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จ้นทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่า หากขึ้นภาษีแวต จะทำให้รายได้ประเทศเพิ่มขึ้นกว่าแสนล้านบาท พร้อมเสริมว่าถ้าขึ้นภาษีจะเสียสละกันได้ไหม ซึ่งต่อมา นายกรัฐมนตรีบอกว่า เป็นเพียงการอธิบายเกี่ยวกับระบบภาษี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา 

          อ. ดร. อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย มีการกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ร้อยละ 10 ตามประมวลรัษฎากร แต่ไทยไม่เคยเก็บภาษีแวตถึงร้อยละ 10 มีการทำพระราชกฤษฎีกาเก็บที่ร้อยละ 7 ทุกปีเรื่อยมา

          เหตุที่ไม่มีการขึ้นภาษีแวต เพราะว่าแวตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกคนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะคนจน หรือคนมีรายได้น้อย จะมีสัดส่วนแบกรับภาระมากกว่าคนรวย ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามคงระดับภาษีไว้ในอัตราเดิมตลอด

          “แต่มันก็มีแนวคิดเพิ่มภาษีแวตมานานแล้ว เพราะภาระทางการคลังของไทยมีมากขึ้นทุกๆ ปี เราเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุเรื่อยๆ ต้องมีการทำอะไรกับศักยภาพการเติบโตของประเทศ ต้องลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานมารับมือตรงนี้ ในระยะกลาง 5 ปีต่อไปเราต้องใช้เงินมากขึ้นแน่นอน” อ. ดร. อธิภัทรระบุ พร้อมชี้ว่าถ้าจะกล่าวว่ารัฐบาลถังแตกก็คงเกินไปหน่อย เพราะเราต้องใช้เงินมากขึ้นมารับมือส่วนนี้จริงๆ

          อ. ดร. อธิภัทรกล่าวว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นแหล่งภาษีใหญ่สุดของประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนแล้วประมาณร้อยละ 26 ของภาษีทั้งหมดที่เก็บได้ รองลงมาคือภาษีเงินได้นิติบุคคล อยู่ที่ร้อยละ 22 ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อยู่ที่ร้อยละ 11

          “ปัญหาคือภาษีปัจจุบันเรามีความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน ภาษีแวตเป็นภาษีถดถอย คนจนรับภาระมาก ไม่เหมือนภาษีเงินได้ ที่ต้องให้คนรวยจ่ายมากกว่า” อ. ดร. อธิภัทรกล่าว พร้อมชี้ว่าปัจจุบัน ไทยมีประชากรในวัยกำลังแรงงานราว 40 ล้านคน แต่ที่เสียภาษีเงินได้จริงๆ มีเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น

        ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า “ฐานภาษีแคบ” มีคนจ่ายภาษีน้อยเนื่องจากมีคนมีรายได้เข้าข่ายเสียภาษีน้อย คนเสียภาษีเงินได้ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในระบบ ขณะที่ไทยมีอาชีพนอกระบบ ฟรีแลนซ์หรือคนที่ทำธุรกิจส่วนตัวจะมีช่องทางหลบเลี่ยงมาก

          “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไทยเราถือว่าเก็บสูง สูงสุดประมาณร้อยละ 30 ของรายได้ แต่เอาเข้าจริงเรามีลดหย่อนเยอะ มีช็อปช่วยชาติ บริจาค หักได้หนึ่งเท่าสองเท่าอะไรก็ว่าไป” อ. ดร. อธิภัทรระบุ

           อ. ดร. อธิภัทรกล่าวว่าไทยยกเว้นรายได้ที่เข้าข่ายเสียภาษีหลายประเภท เช่น รายได้จากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Capital Gain) ซึ่งไทยไม่เคยมีการเก็บภาษีส่วนนี้มาหลายทศวรรษ เพราะต้องการสนับสนุนตลาดทุน ทั้งๆ ที่หากมีการเก็บภาษีส่วนนี้ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจะเป็นชนชั้นกลางรายได้สูงเป็นส่วนมาก

          “เรายกเว้นรายได้ตรงนี้ไปเพราะบอกว่าต้องการสนับสนุนตลาดทุน แต่มันก็มีหลายๆ ประเทศใช้วิธีเก็บภาษีจากเฉพาะนักลงทุนที่ลงทุนระยะสั้น (Short term) คือพวกนักเก็งกำไร ส่วนพวกนักลงทุนจริงๆ ที่ถือครองหุ้นมากกว่า 1 ปี (Long term) เราก็ใช้วิธีไม่เก็บ หรือเก็บภาษีน้อยก็ได้” อ. ดร. อธิภัทรกล่าว พร้อมย้ำว่าเราต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับคนจ่ายภาษีปัจจุบันก่อน ต้องจริงจังกับฐานภาษีมากขึ้น

         ด้าน รศ. ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่าขึ้นลงอัตราภาษีขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ ซึ่งโดยทั่วไปถ้ารัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะลดภาษี แต่ถ้าต้องการชะลอไม่ให้ร้อนแรงไปก็ใช้วิธีการขึ้นภาษีก็ได้ อย่างไรก็ตาม สภาพปัจจุบันของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง จึงไม่น่าจะใช่เวลาที่ต้องขึ้นภาษี

          “ผมคิดว่าตอนที่นายกออกมาพูด ตลาดการเงินเขาก็คงงงๆ ยังไม่เชื่อ ผมเองก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นได้เพราะมันดูขัดแย้งกัน ขาหนึ่งเราก็จะขึ้นภาษี อีกขาหนึ่งเราใช้จ่ายมาก มีการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐมาก มันเลยดูขัดแย้งกันเอง” รศ. ดร. สมประวิณกล่าว

         แต่ก็เป็นไปได้ว่าอนาคตจะมีแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบภาษี ซึ่ง รศ. ดร. สมประวิณเชื่อว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายฐานภาษี จูงใจให้คนจ่ายภาษีมากขึ้น การที่พลเอกประยุทธ์ อกกมาพูดเรื่องภาษีอาจทำให้คนตีความได้ว่ายังไม่ได้จะขึ้น แต่เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจะทำอะไรอย่างหนึ่งหรือเปล่า

          “การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ต้องสื่อสารเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อระบบเศรษฐกิจ ตลาดการเงินมีความระมัดระวังและปรับตัวรวดเร็ว ไม่ใช่สื่อสารแล้วทำเลย ควรวางไปถึงระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้นักลงทุนปรับตัวได้ถูกด้วย” รศ. ดร. สมประวิณสรุป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ