ข่าว

บูรณาการหน่วยงานสนับสนุนน้ำในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ 1,512 แปลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

 

          นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือที่เรียกว่านโยบาย “เพื่อยกกระดาษ A4” ซึ่งเปรียบเทียบพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทยที่มีจำกัด 149 ล้านไร่ เหมือนกระดาษ A4 1 แผ่น โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ ด้วยนโยบายสำคัญในด้านต่างๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมโดยใช้ Agri-Map เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร พัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer โดยนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการทำการเกษตร รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ขบวนการทางเกษตรกรรมแบบครบวงจร ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม มีความภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกร และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 20% ไม่มีหนี้สิน 
และต้นทุนการผลิตลดลง 20%

          โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เป็นระบบการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก โดยจะเลือกพื้นที่ที่มีขนาดเหมาะสม เป็นพื้นที่ที่ไม่ผิดกฎหมาย รวมแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ มีความเหมาะสมทาง
ด้านดิน น้ำ และภูมิอากาศ และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับหน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่จะให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร และสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิต เพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้าเกษตร

     ทั้งนี้ การดำเนินโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ในปี 2559 มีพื้นที่การเพาะปลูกในโครงการ จำนวน 600 แปลง แบ่งออกเป็นแปลงที่อยู่ในเขตชลประทานมีระบบส่งน้ำสมบูรณ์แล้ว จำนวน 95 แปลง อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ/โครงการที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จำนวน 267 แปลง และพื้นที่ที่ต้องดำเนินการจัดทำระบบส่งน้ำ จำนวน 238 แปลง ซึ่งใช้งบประมาณ 4,538.1515 ล้านบาท โดยกรมชลประทาน  ดำเนินการเอง 220 แปลง ใช้งบประมาณ 4,198.6582 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้บูรณาการประสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการ 10 แปลง ใช้งบประมาณ 138.7653 ล้านบาท และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการ 8 แปลง ใช้งบประมาณ 200.7280 ล้านบาท สามารถรองรับสินค้าเกษตรได้ 9 ชนิด คือ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ไม้ผล หม่อนไหม กล้วยไม้ ปศุสัตว์ และ ประมง

       ในส่วนของการดำเนินงานสนับสนุนการส่งน้ำโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกรมชลประทาน จำนวน 220 แปลงนั้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้จำนวน 685,610 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ จำนวน 39,886 ราย ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานสามารถดำเนินการจัดทำระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ จำนวน 56 แปลง (คิดเป็นร้อยละ 25.45) สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้จำนวน 117,600 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ จำนวน 9,164 ราย และพื้นที่ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินงาน จำนวน 64 แปลง (คิดเป็นร้อยละ 74.55)

          สำหรับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ในปี 2560 กรมชลประทานจะดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง จำนวน 912 แปลง ปัจจุบันสามารถรวบรวมข้อมูลพื้นที่การเกษตรแล้วเสร็จ จำนวน 509 แปลง และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 403 แปลง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้

-------------------------------------------------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ