ข่าว

รัฐอาจยกเลิกกฎหมายมาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องการทำธุรกิจและลงทุน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาเรื่องการปฏิรูปประสิทธิภาพภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการอำนวยความสะดวกธุรกิจ (Ease of doing business) เป็นอย่างมากเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการจัดตั้งธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย 

ประเทศไทยจะต้องรับการประเมินจากธนาคารโลก (World bank) ทุกปี โดยในปีที่ผ่านมาแม้ว่าอันดับของเราจะปรับดีขึ้น 3 อันดับจากอันดับ 49 มาอยู่ที่ 46 แต่ก็ยังต้องเพิ่มการทำงานในเรื่องต่างๆที่ผู้ประเมินหรือในสายตาโลกมองว่ายังต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และได้มีการบรรจุเรื่องนี้ในการประชุมของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ หรือ “มินิ คาบิเนต” ซึ่งเป็นคณะทำงานที่อยู่ใน คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และได้ข้อสรุปว่าต้องเร่งรัดกฎหมาย 5 เรื่องเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจมากขึ้นก่อนการประเมินของธนาคารโลกในเดือน พ.ค.ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ.... 2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ... 3.ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) ... 4.ร่าง พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด (ฉบับที่..) พ.ศ.... 5.พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

“นายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องนี้ไปหารือและแจ้งให้ ครม.ทราบว่าการดำเนินการจะทำเป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรกจะใช้ม.44 ในการดำเนินการให้มีการออกกฎหมายที่จำเป็นก่อนเพื่อให้ทันต่อการประเมินของธนาคารโลกในเดือน พ.ค.นี้ ส่วนในระยะต่อไปการแก้ไขปรับปรุงและออกกฎหมายก็จะใช้ช่องทางปกติคือผ่านเป็นกฎหมายจากสนช.ซึ่งจะส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจในประเทศไทยในระยะยาว”

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่าการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจยังรวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมของกฎหมายต่างๆที่รัฐบาลออกมาว่าเอื้อต่อการทำธุรกิจและการลงทุนหรือไม่รวมทั้งกฎหมายตามมาตรา 44 รัฐบาลก็จะมีการพิจารณาทบทวนความจำเป็นโดยในระยะเวลา 1 ปีหลังจากนี้ โดยอาจจะยกเลิกกฎหมายมาตรา 44 บางส่วนได้หากไม่มีความจำเป็น

“เรื่องของการออกกฎหมายก็ต้องดูตามความเหมาะสม แม้แต่เรื่องของ ม.44 ก็ไม่อยากให้เจอไปนานๆ อีก 5 – 10 ปี หากยังคงมาตรา 44 อยู่ก็อาจไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เรื่องนี้เป็นเรื่องของบรรยากาศในการทำธุรกิจด้วย อาจจะมีคำถามกลับมาว่ากฎหมายฉบับนี้ฉบับนั้นออกในสมัยใด หากบอกว่าออกในช่วงของ คสช.ก็อาจมีคำถามว่า คสช.คือใครก็ต้องเล่าย้อนกันยาว ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ รัฐบาลซึ่งจะมีเวลาในการทำงานอยู่ประมาณ 1 ปีก็ต้องมานั่งดูว่าม.44 ที่ออกไปทั้งหมดมีเรื่องใดบ้างเรื่องใดต้องคงไว้เรื่องใดยกเลิกได้”นายวิษณุกล่าว

นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่าขั้นตอนในการทบทวนกฎหมายตามมาตรา 44 จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ โดยอาจเรียกขั้นตอนนี้ว่า “การสังคายนา ม.44” ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาร่วมกันว่าสถานะของกฎหมายที่ออกตามอำนาจตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีสถานะอย่างไรเพราะม.44 บางฉบับออกมามีผลบังคับใช้ครั้งเดียว เช่น การโยกย้าย สถานะของกฎหมายนั้นก็จะหมดไป ส่วนม.44 บางส่วนที่มีการประกาศใช้แล้วจะให้มีการคงอยู่เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไปก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการปรับกฎหมายให้ไปอยู่ในรูปของพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นรูปแบบกฎหมายปกติ

สำหรับการปรับปรุงกฎหมายของประเทศให้เอื้อต่อการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจขณะนี้ทำควบคู่กันไปทั้งการศึกษาความจำเป็นของกฎหมายที่มีการประกาศใช้มานานแล้วซึ่งในส่วนนี้ภาคเอกชนได้เข้ามาทำงานร่วมกับภาครัฐและได้จ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศเข้ามาช่วยศึกษาซึ่งต่อไปจะเข้าสู่ขั้นตอนการตัดทิ้งกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น (regulatory guillotine) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ในต่างประเทศใช้ในการปรับปรุงกฎหมายและช่วยเพิ่มอันดับการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจได้

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจในช่วง 20 ปีข้างหน้าคือการยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศรายได้ระดับสูง ซึ่งจะต้องเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับ 4.- 5% ต่อปี จากในปัจจุบันที่ขยายตัวได้ประมาณ 3% เศษ ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับดังกล่าวได้ยังต้องการการลงทุนทางตรง (เอฟดีไอ) จากต่างประเทศ ซึ่งเงื่อนไขที่จะทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นการยกระดับการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจหรือ “Ease doing business” ตามการจัดอันดับของธนาคารโลกถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องยกระดับให้ได้เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“ที่ผ่านมาการประเมินอันดับเรื่องการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจของไทยมีหลายตัวชี้วัดที่เราได้รับการประเมินว่ามีการพัฒนาขึ้น เช่น เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในบางเรื่องก็ต้องการพัฒนามากขึ้น เช่น เรื่องของการศึกษา เรื่องของการใช้นวัตกรรม การให้ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร ที่สำคัญต้องสร้างการรับรู้ให้กับสังคมและภาคธุรกิจในวงกว้างด้วย”นายปรเมธีกล่าว

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่าจากรายงานผลการจัดอันดับประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก หรือ Doing Business 2017 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 190 ประเทศ และติดอันดับที่ 3 ของอาเซียน ผลการจัดอันดับดังกล่าวสะท้อน ให้ภาครัฐเห็นถึงแนวทางในการขับเคลื่อนการปรับปรุงบริการของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และแนวทางในการปรับปรุงบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ 

ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐเร่งพัฒนาคุณภาพการทำงาน และการปรับปรุงบริการที่ดำเนินการอยู่ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้น

สำหรับการพัฒนาระบบการให้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้นในวันที่ 18 เม.ย.นี้ จะเริ่มต้นการให้บริการระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) อย่างเป็นทางการ โดยจะเชื่อมโยงการเริ่มต้นธุรกิจ ณ จุดเดียว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ