ข่าว

ครม.ไฟเขียวแก้ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเซรษฐกิจ

 

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .. หลังผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 ม.ค.2562

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ในครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญบางส่วนจากร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .. ฉบับเดิมซึ่ง ครม.ได้มีการเห็นชอบไปเมื่อเดือน มิ.ย.2559 โดยการแก้ไขอัตราการเก็บภาษีที่ดินซึ่งแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ โดยในส่วนของที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพกำหนดให้เก็บภาษีในอัตรา 2% จากเดิมที่กระทรวงการคลังเสนอให้เก็บภาษีในอัตรา 5% โดยการเริ่มเก็บภาษีในอัตรา 2% จะสามารถปรับการเก็บภาษีขึ้นได้ครั้งละ 0.5% หากไม่มีการใช้ประโยชน์ โดยจะมีการประเมินทุก 3 ปี 

อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีจะไม่เกินเพดานอัตราเพดาน 5% ส่วนที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมและที่เป็นที่อยู่อาศัยโครงไว้อัตราเดียวกับร่างของกระทรวงการคลังที่ 0.2 % เช่นเดียวกับที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์อื่น เช่น พาณิชยกรรม คงการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 2%

“การจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีการปรับลดการจัดเก็บภาษีลงจากอัตราเดิม เป็นการนำข้อเสนอของเอกชนมาพิจารณา ในประเด็นที่มีการร้องเรียนว่าการสะสมที่ดินไว้บางกรณีของเอกชนเป็นการสะสมที่ดินในลักษณะ Land bank เพื่อที่จะนำไปพัฒนาในช่วงเวลาที่เหมาะสมซึ่งก็จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเช่นกัน และถือเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐและภาคเอกชน” นายณัฐพร กล่าว 

นายณัฐพร กล่าวอีกว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขตามมาตรา 51 ที่เกี่ยวข้องกับการลดภาษีจากเดิมที่กระทรวงการคลังจะระบุว่ากรณีมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจสังคม หรือ สภาพแห่งท้องที่ให้สามารถลดภาษีโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแต่ต้องไม่เกิน 75% ของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย โดยแก้ไขเป็นต้องไม่เกิน 90% ของภาษีที่ต้องเสียเนื่องจากในบางกรณีที่ดินที่ได้รับมอบมาเป็นมรดกก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ครอบครองทรัพย์สินมีฐานะร่ำรวยก็ได้

พร้อมกันนี้ได้กำหนดให้มีการเพิ่มคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีสิ่งปลูกสร้าง โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดโดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สำหรับการจ่ายคืนดอกเบี้ยให้กับผู้เสียภาษีเดือนละ1%ในกรณีเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีผิด 

รวมทั้งได้กำหนดให้ผู้ที่มีที่ดินที่จ่ายภาษีไม่ครบห้ามโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีหนี้ภาษียกเว้นการขายทอดตลอดเท่านั้น ส่วนกรณีการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลายประเภท ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บภาษีที่ดินตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ตามที่กระทรวงการคลัง และมหาดไทยร่วมกันกำหนด

ในส่วนของกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใดมีการใช้ประโยชน์หลายประเภทจากเดิมไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์หลายประเภท เพียงแต่กำหนดว่าให้คำนวณตามอัตราส่วนการใช้ประโยชน์ คณะกรรมการกฤษฎีกาเปลี่ยนเป็นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ตามที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนดรวมทั้งมีการเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลให้กรมที่ดินจัดส่งข้อมูลแปลงที่ดินและข้อมูลเอกสารสิทธิ์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเตรียมการจัดเก็บภาษีด้วย 

ทั้งนี้คาดว่าหลังจากกฎหมายผ่าน ครม.จะใช้เวลาในการพิจารณาใน สนช. 2-3 เดือน จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นระยะเวลา 1 ปีก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบเตรียมความพร้อม อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นกฎหมายภาษีจะต้องมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.ของปีถัดไปซึ่งคาดว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 ม.ค.2562

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ