ข่าว

บริโภคไข่ไก่ ต่อลมหายใจเกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

 
                      ไข่ไก่ เป็นสินค้าอ่อนไหว ราคามีขึ้นมีลงตามอุปสงค์-อุปทาน หรือที่เรียกว่ากลไกตลาด เป็นตัวกำหนด คือ เมื่อปริมาณไข่ไก่ในท้องตลาดมีน้อยขณะที่การบริโภคมีมาก สินค้าก็ขาดตลาด ราคาก็ขยับขึ้น ในทางกลับกันหากปริมาณไข่ไก่มีมากสวนทางกับการบริโภคที่ต่ำกว่า สินค้าก็ล้นตลาด ราคาจึงปรับตัวลง ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจบัน ซึ่งเรื่องภาวะราคาขึ้นลงนี้เกิดขึ้นตลอดทั้งปี จึงเรียกว่า “วัฎจักรราคาไข่ไก่”
                      หากย้อนกลับไปดูข้อมูลสถานการณ์ไข่ไก่ในรอบหนึ่งปี โดยปกติราคาที่ปรับขึ้นหรือลงจะถูกกำหนดโดยปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภคในขณะนั้น สำหรับช่วงที่ราคาสูงขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดในช่วยฤดูร้อน เนื่องจากปริมาณไข่ไก่ลดลงเพราะแม่ไก่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน ขณะเดียวกันปริมาณการบริโภคก็สูงขึ้นด้วยเพราะมีเทศกาลสำคัญๆหลายวัน ส่วนช่วงที่ราคามักจะต่ำลงคือ ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ที่สภาพอากาศมีความเหมาะสม แม่ไก่ให้ผลผลิตดี ปริมาณไข่ไก่จึงมากขึ้นตามไปด้วย สวนทางกับการบริโภคที่ลดลง เพราะมีอาหารตามธรรมชาติให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอย่างมากมาย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องต้นทุนการผลิต ปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์ไก่ไข่ และสุขภาพสัตว์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากจะควบคุม
                    ขณะเดียวกัน ช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ยังเป็นตัวกำหนดราคาไข่ไก่ด้วย โดยราคามักจะตกต่ำเมื่อมีวันหยุดต่อเนื่องกันเกิน 2 วันและจะตกต่ำหนักๆ ในช่วงปิดเทอมใหญ่ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และเทศกาลกินเจในเดือนตุลาคมของทุกปี ที่กล่าวมานี้คือภาวะปกติ หากแต่ในปี 2559 ปี ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กลับไม่เป็นเช่นนั่น เพราะราคาไข่ไก่ปรับลดลงมาตลอด สืบเนื่องมาจากในปีที่ผ่านมาตลาดไข่ไก่เคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ดี ราคาไข่ไก่จึงขยับตัวสูงขึ้น กลายเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจขยายการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน เมื่อปริมาณแม่ไก่ยืนกรงเพิ่มขึ้นก็แน่นอนว่าผลผลิตไข่ไก่ย่อมเพิ่มขึ้น แต่การบริโภคไม่ได้เพิ่มตาม ราคาจึงลดต่ำลง เรียกได้ว่าปีที่ผ่านมานี้อุตสาหกรรมไก่ไข่ของไทยต้องประสบกับภาวะราคาตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จากทุกปีที่ราคาไข่จะตกต่ำมากที่สุดในช่วงเทศกาลกินเจ จากนั้นราคาจะกระเตื้องขึ้น แต่จนถึงช่วงปลายปีที่ปกติราคาต้องปรับสูงขึ้นแล้วจากเทศกาลรื่นเริงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่การบริโภคจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาไข่กลับถูกกว่าช่วงกินเจเสียด้วยซ้ำ เป็นเพราะอัตราการบริโภคที่ลดต่ำลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์นั่นเอง
                        สภาวะราคาตกต่ำดังกล่าวนี้เกิดลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงจากความต้องการบริโภคไข่ไก่ที่ลดลงอย่างหนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และเป็นช่วงโรงเรียนปิดเทอม อย่างไรก็ตามปัญหานี้ไม่ได้ถูกละเลย โดยเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ในฐานะกรรมการเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ Egg Board ได้ระดมความคิดเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ปัญหา ซึ่งจะเสนอมาตรการต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ทั้งมาตรการระยะสั้น 2 เรื่อง คือ การปลดไก่แก่ออกก่อนกำหนด (ปกติปลดไก่ที่อายุ 75 สัปดาห์) จำนวนประมาณ 5 ล้านตัว และการช่วยเหลือผู้ผลิตที่ไม่มีตลาดรับซื้อด้วยการผลักดันการส่งออกไข่ไก่ไปต่างประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการ ส่วนมาตรการระยะยาว จะเสนอให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุน เพื่อการทำกิจกรรมแก้ปัญหาหากไข่ไก่ตกต่ำในโอกาสต่อๆไป
                            นอกจากนี้ Egg Board ได้ประมาณการณ์ ปริมาณแม่ไก่ไข่ยืนกรงในปี 2560 นี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 5.66 เป็น 57.80 ล้านตัว ส่วนผลผลิตไข่ไก่ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.98 เป็น 16,492 ล้านฟอง ซึ่งหากปีนี้มีการส่งออก 200 ล้านฟอง เท่ากับปีที่ผ่านมา จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มอัตราการบริโภคไข่ไก่ของไทยเป็น 249 ฟองต่อคนต่อปี เพิ่มจากปี 2559 ที่บริโภค 235 ฟองต่อคนต่อปี คิดเป็นอัตราเติบโตของการบริโภคร้อยละ 6 ซึ่งถือว่าเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา ที่อยู่ในเกณฑ์ ร้อยละ 4-5
                       แม้ว่าวันนี้ทุกคนต่างรับรู้ว่าไข่ไก่มีประโยชน์มากมาย และอัตราการบริโภคไข่ไก่ก็เพิ่มขึ้น จากการดำเนินโครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ 300 ฟอง ตามแผนยุทธศาสตร์ไก่ไข่ พ.ศ.2557–2561 ที่  Egg Board ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หากแต่ปริมาณการผลิตที่มากเกินความต้องการในปัจจุบันก็ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาไข่ไก่ลดลง อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นการบริโภคไข่ไก่ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อ โดยผู้เลี้ยงไก่ไข่ประเมินว่าหากคนไทยทุกคนบริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 20 ฟองต่อปี ก็สามารถแก้ปัญหาไข่ล้นตลาดและราคาตกต่ำได้แล้ว 
                        ที่สำคัญภาวะราคาไข่ไก่เช่นนี้ ถือเป็นโอกาสของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ที่จะได้รับประทานไข่ไก่ที่จัดว่าเป็นโปรตีนคุณภาพสูง และมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการอย่างครบถ้วน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้เกษตรกรไทยสามารถประคับประคองอาชีพได้ต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ