ข่าว

รัฐอัดงบฯปี 61 หมื่นล้าน.เดินหน้า ‘อีอีซี’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

            แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ สศช.ได้ประชุมหารือกับสำนักงบประมาณในการทบทวนแผนงานโครงการงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณปี 2561 เรื่อง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 พื้นที่ และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญเร่งด่วน

          โดย สศช.ได้ นำผลการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาพิจารณาแบ่งเป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน วงเงิน17,299.2483 ล้านบาท ส่วนโครงการอีอีซีมีคำเสนอของบประมาณวงเงิน 11,732.7971 ล้านบาท

         ทั้งนี้คำของบประมาณทั้งสองส่วนมีการปรับเพิ่มจากวงเงินที่ได้รับการอนุมัติในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งรัฐบาลอนุมัติงบประมาณในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 พื้นที่วงเงินรวมประมาณ 3.3 พันล้านบาท ขณะที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกรัฐบาลจัดสรรงบประมาณในปี 2560 วงเงินรวม 6,992.67 ล้านบาท โดยคำขอฯที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วจะส่งให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาพร้อมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2651 ในการประชุม ครม.ในเดือน เม.ย.

         นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่าสำนักงบฯได้รับคำของบประมาณเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และโครงการอีอีซี ในปี 2561 แล้วซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาความเหมาะสมเร่งด่วนของการใช้งบประมาณในโครงการต่างๆอีกครั้ง รวมทั้งพิจารณาทบทวนเป้าหมาย และตัวชี้วัดของโครงการให้มีความสอดคล้องกับงบประมาณ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมกับการลงทุน โครงการอีอีซี เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องการผลักดันซึ่งจะได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นลำดับแรกๆ

          “สำนักงบฯอยู่ระหว่างการพิจารณาคำของบประมาณในปี 2651 จากหน่วยงานต่างๆ ขณะนี้มีคำของบประมาณส่งเข้ามารวมเป็นวงเงินพรีซิลลิ่งกว่า 4.2 ล้านล้านบาท ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนโดยสัดส่วนของงบประมาณในการลงทุนของปี 2561 จะอยู่ที่สัดส่วน 23-23.5% สูงกว่าปีงบประมาณ 2560 ที่งบฯลงทุนอยู่ที่ 22.9%”

        ส่วนภาพรวมของการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2560 ตัวเลข ณ วันที่ 10 มี.ค.การเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 46.99% สูงกว่าประมาณการ 4.76% โดยมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการทำสัญญาแล้วเสร็จ 62.5%

          ส่วนโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ หน่วยงานต้องส่งคืนงบประมาณให้กับรัฐบาลเพื่อนำไปจัดสรรงบประมาณใหม่ โดยจะสามารถสรุปตัวเลขและวงเงินโครงการทั้งหมดที่จะต้องส่งคืนงบประมาณให้ ครม.รับทราบในวันที่ 11 เม.ย.นี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ