ข่าว

ไทยจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าฐานเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

 

                นักวิชาการ-เอกชน ระบุ ไทยจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าฐานเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ชี้ พลังงานทดแทนยังมีต้นทุนสูง หวั่นกระทบค่าไฟ คาด นโยบายรัฐชัดเจนขึ้น หลังคลอด พ.ร.บ.ส่งเสริมพลังงานทดแทน

                ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกรแห่งประเทศไทย เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ “ข้อเสนอ ความร่วมมือและทางออก สำหรับความมั่นคงและความยั่งยืนด้านพลังงานของไทย” ว่า การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ถือเป็นภาระกิจสำคัญที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแลสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่ถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) ปี 2558-2579 กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนบางกลุ่ม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหาโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทน ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จะต้องคำนึงถึงต้นทุนโรงไฟฟ้าและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำ 

    “แม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนพลังงานทดแทน แต่ไทยจำเป็นต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฐาน ที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และนิวเคลียร์ เพราะโรงไฟฟ้าพลังงามทดแทน ยังไม่เสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าได้เท่ากับโรงไฟฟ้าฐาน ซึ่งหากจะทำให้การผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพจะต้องลงทุนระบบกักเก็บแบตเตอรี่ แต่จะทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น 2 เท่า เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อดีตเคยได้รับเงินสนับสนุนส่วนเพิ่มในการรับซื้อไฟ้ฟา(แอดเดอร์) ราว 8 บาทต่อหน่วย จะต้องปรับขึ้นเป็น 12-15 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และภาครัฐต้องเสียงบประมาณเข้าไปสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นด้วย” 

         นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งเสริมพลังงานทดแทนของไทย จะมีความชัดเจนขึ้นหากร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมพลังงานทดแทน พ.ศ.... ที่อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 1 ฉบับ และสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ(สปท.) อีก 1 ฉบับ โดยจะนำมารวมกันเป็นฉบับเดียวในเร็วๆนี้ เพื่อให้กฎหมายประกาศใช้ได้โดยเร็วนั้น จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐกล้าที่จะตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆมากขึ้น เพราะมีกฎหมายรองรับ ดังนั้น นโยบายส่งเสริมการพลังงานทดแทนจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนได้ ส่วนการจัดลำดับความสำคัญของพลังงานทดแทนที่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดนั้น มองว่า อันดับ 1 คือ ขยะ อันดับ 2 ไบโอแก๊ส และไบโอแมส อันดับ 3 ไบโอเอทานอล และไบโอดีเซล และอันดับ 4 พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรัฐจะให้ความสำคัญในการส่งเสริมตามลำดับ 

          ทั้งนี้ หากภาครัฐต้องการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวมวล(ไบโอแมส) โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2,000 เมกะวัตต์ มองว่า ควรกำหนดการส่งเสริมให้มีพืชไม้ปลูกราว 10 % เช่น กฐิน ซึ่งจะทำให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน 

          “ส่วนตัวมองว่า ไทยจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ควรเอาเชื้อเพลิงฟอสซิลมาผสมกีบชีวมวล แต่จะเป็นวิธีการใด้นั้นภาครัฐต้องศึกษาความเหมาะสมหรือหาต้นแบบจากต่างประเทศ ซึ่งวิธีการนี้อาจช่วยลดแรงกดดันจากภาคสังคมได้”

        นายพีระพงศ์ ฑีฆสกุล รองอธิการบดี ฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การตัดสินใจด้านพลังงานของประเทศ จะต้องมีความรู้จริงใน 3 เรื่อง คือ 1.ความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งต้องรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดความมั่นคง เพราะไทยยังต้องนำเข้าพลังงานจากเพื่อนบ้าน รวมถึง ภาคใต้ในอนาคตกำลังการผลิตไฟ้ฟาจะไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ 2.ด้านเทคนิค ซึ่งประชาชนต้องรู้คุณสมบัติของโรงไฟฟ้าและเชื้อเพลิงแต่ละชนิด 3. ผลกระทบ เช่น เรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะเชื้อเพลิงทุกชนิดมีผลกระทบที่แตกต่างกัน แต่เทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยในเรื่องของการลดผลกระทบลงได้ ดังนั้น ผู้ที่จะมีส่วนชี้ชะตาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องมีความรู้ทั้ง 3 เรื่องนี้ และต้องสร้างความรู้ให้กับภาคประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม มองว่า การจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) ปัจจุบัน ที่มักจะมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการแทนและทำให้ภาคประชาชนไม่ไว้วางใจนั้น ภาครัฐควรพิจารณาการจัดตั้ง องค์อิสระและว่าจ้างนักวิชาการอิสระ เข้าไปดำเนินการจัดทำอีไอเอและอีเอชไอแทน เพราะถือเป็นคนกลางที่จะทำให้ภาคประชาชนวางใจได้ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ