ข่าว

จับตาก.ม.ภาษีถุงพลาสติก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์

 

          สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ยินอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) คุณสากล ฐินะกุล ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดในการนำกฎหมายภาษีมาใช้เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกในประเทศไทย รู้สึกขอบคุณแทนคนไทย เพราะต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เลือกใช้นโยบายภาคสมัครใจ รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ล่าสุดประเทศไทยก็ยังติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล

          การนำกฎหมายมาใช้ในการลดใช้ถุงพลาสติกอาจจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ประเทศไทยน่าอยู่ขึ้น ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง เพราะหากศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาขยะถุงพลาสติกในหลายประเทศจะเห็นชัดเจนว่า การนำกฎหมายมาใช้เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกประสบความสำเร็จมากกว่าและรวดเร็วกว่าการรณรงค์หลายเท่า

          ดูจากข้อมูลที่อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมหยิบยกมาเป็นตัวอย่างในการให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเร็วๆ นี้ กรณีศึกษาของประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งในอดีตมียอดใช้ถุงพลาสติกประมาณ 1,280 ล้านใบต่อปี หรือโดยเฉลี่ย 325 ใบต่อคนต่อปี ดังนั้นไอซ์แลนด์จึงนำกฎหมายมาบังคับใช้ในการจัดการขยะครั้งแรกในปี 2544 โดยเก็บภาษีถุงพลาสติกใบละ 9 บาท ครอบคลุมการใช้ถุงพลาสติกทุกใบ ยกเว้นกรณีถุงพลาสติกที่ใช้ใส่เนื้อสดหรืออาหารสด

          ปรากฏว่าในปีแรกที่เริ่มเก็บภาษี ไอซ์แลนด์สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ถึง 90% จาก 1,280 ล้านใบต่อปี เหลือเพียง 235 ล้านใบต่อปี เป็นตัวเลขน่าสนใจมาก 

          ที่สำคัญกว่านั้น รัฐบาลไอซ์แลนด์ยังนำเงินภาษีที่เก็บได้ไปใช้กับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวทีเดียว เพราะนอกจากอัตราการใช้ถุงพลาสติกจะลดน้อยลงแล้ว รัฐบาลยังมีเงินไปดูแลภาพรวมสิ่งแวดล้อมของประเทศด้านอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย

          นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำเอากฎหมายมาใช้ในการลดถุงพลาสติก เช่น จีน แอฟริกาใต้ บังกลาเทศ อินเดีย เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ

          วันนี้อาจจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เตรียมจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกในประเทศไทย โดยอาจนำร่องใน 3 จังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้ก่อน ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ก่อนการประกาศใช้กฎหมายต่อไป

          การบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จึงอาจมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เท่าที่ติดตามจากหลายๆ ประเทศก็เชื่อว่า แนวคิดเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยหลายๆ ด้าน ทั้งลดปริมาณขยะที่ต้องใช้งบประมาณมากมาย แต่ละปีในการจัดการ ลดภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ทำให้ระบบนิเวศของทั้งคน สัตว์และพืชดีขึ้น แถมยังช่วยให้บ้านเมืองของเราสะอาดสวยงามเพิ่มคุณค่าให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกด้วย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ