ข่าว

บริหารความเสี่ยงบน‘โลกออนไลน์’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง โดย...บัญญัติ คำนูญวัฒน์

 

          โซเชียลมีเดียมีประโยชน์มากก็จริง แต่หากใช้โดยไม่ระมัดระวังก็อาจจะก่อให้เกิดเสี่ยงความเสียหายต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคมโดยรวมได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่ จากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปี 2550 เพื่อให้ทันสมัย และทันต่อเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 24 พฤษภาคม 2560

          พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้มีอะไรที่เป็นความเสี่ยง ที่จะมากระทบชีวิตพวกเราบ้าง ผมได้มีโอกาสไปฟังอาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ พูดเรื่องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีการปรับปรุงใหม่ หลายเรื่องน่าสนใจมาก จึงอยากนำมาเล่าให้ฟัง

          ยกตัวอย่าง เรื่องอีเมล ข้อความ SMS ที่เป็นสแปม ที่ทำให้หลายคนอารมณ์เสียที่ต้องมาคอยนั่งลบทุกวัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ให้แล้ว โดยเพิ่มวรรค 2 ในมาตรา 11 ห้ามส่งสแปมเด็ดขาด ถ้าจะส่งต้องขออนุญาตผู้ใช้ก่อน ถ้าผู้ส่งแอบส่งสแปมโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งอีเมล sms line Social Network โดนปรับข้อความละ 2 แสนบาท

          อีกเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่คือ ปัญหาหมิ่นประมาทออนไลน์ที่มีสถิติเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากการฟ้องหมิ่นประมาทในทางอาญาโทษจะน้อย แต่ถ้าฟ้องด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โทษจะหนักถึง 5 ปี หลายคนจึงใช้ความกำกวมของกฎหมายให้เป็นประโยชน์ในการฟ้องร้องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่จึงต้องแก้ไขให้ชัดเจนมากขึ้น

          สำหรับเว็บข่าวที่ส่วนใหญ่มักจะพาดหัวเชิญชวนให้คนเข้ามาอ่านข่าว แต่เนื้อหาเป็นการรายงานข่าวข้อเท็จจริงปกติ เมื่อข่าวขึ้นเว็บไซต์แล้วจะนำไปรายงานต่อในเฟซบุ๊ก ยูทูบ มักจะมีคนเข้ามาคอมเมนท์ วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ตรงนี้ต้องดูเจตนา เพราะตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ระบุไว้ว่า ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตนต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดในมาตรา 14

          มาถึงคำถามที่หลายคนให้ความสนใจถามกันมากในช่วงที่ผ่านมา คือ การกด Like สถานะบนเฟซบุ๊กที่เห็นด้วยกับข้อความเสี่ยงผิดกฎหมาย ถือว่าผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่ ?

          เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ อธิบายว่า ความจริงแล้วกด Like ไม่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพความเห็นตัวเองว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกรณีนี้ แต่ด้วยกลไกของการกด like จะทำให้คนอื่นเห็นความเห็นข้อความนี้ด้วย ตรงนี้ต้องพิสูจน์ที่เจตนาว่า ทำเพื่ออะไร ส่วนการแชร์ต่อเกี่ยวกับเรื่องผิดกฎหมาย ถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน ฉะนั้นก่อนคลิก like คลิกแชร์ต้องมีสติ มีการรีเช็กว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริงหรือเปล่า?

          ความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากการใช้โซเชียลมีเดียอย่างไม่ระมัดระวังในช่วงที่ผ่านมาอาจจะยังไม่มีตัวเลขออกมาให้เห็นชัดเจน แต่เชื่อว่าทุกคนก็รับรู้ถึงความรุนแรงของการแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเซียลที่ทำให้ชีวิตหลายคนเปลี่ยนไปในเวลาเพียงไม่กี่นาที วันนี้แม้จะมีกฎหมายเข้ามาช่วยดูแลแต่ก็เชื่อว่าหากทุกคนช่วยกันดูแล ใช้สื่อออนไลน์อย่างมีสติ สังคมไทยก็จะหลุดพ้นกับดักของโซเชียลมีเดียและกลับไปสู่โลกของความเป็นจริงได้ไม่ยาก

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ