ข่าว

5กลุ่มอาชีพต้องการสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โอกาสแรงงานในเออีซี พบ 5 กลุ่มอาชีพต้องการสูง

 

           การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี กว่าหนึ่งปีเศษที่ผ่านมานั้น กระแสการตื่นตัวไม่โดดเด่นเหมือนช่วงก่อนเข้าการเข้าสู่เออีซีอย่างเป็นทางการ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะบรรยากาศทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่วนการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในกลุ่มประเทศเออีซีด้วยกัน จะเป็นอย่างไรนั้น “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ระบุว่า การดำเนินธุรกิจในภาคแรงงานยังคงเกิดขึ้น แต่อัตราการเคลื่อนย้ายแรงงานชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

           โดยมีตัวแปรสำคัญคือ การลงทุนด้านคมนาคม สาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นการสนับสนุนจากภาครัฐให้เข้ามาลงทุน 

           ทั้งนี้ กลุ่มเออีซี 10 ประเทศประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ โดยน.ส.สุทธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มเออีซี จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ ตามการเปิดเสรีภายใต้เออีซี 7 สาขาอาชีพ ได้แก่ วิศวกร สถาปนิก แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักบัญชี และนักสำรวจ และการเคลื่อนย้ายแรงงานตามการค้าและการลงทุน

           “กว่า 1 ปีที่ผ่านมาอัตราการเคลื่อนย้ายแรงงานกลุ่มวิชาชีพที่เปิดเสรีภายใต้เออีซี 7 อาชีพ ในภาพรวมยังค่อนข้างต่ำ มีเพียงกลุ่มเดียวที่สวนกระแสคือ วิศวกร ส่วนอาชีพอื่นๆ ที่ต่ำเป็นเพราะนโยบายในแต่ละประเทศยังมีการกีดกันกันอยู่มาก อย่างเช่น อาชีพพยาบาล หากจะเข้ามาทำงานประเทศไทยยังต้องใช้ข้อสอบภาษาไทย เป็นต้น”

           ขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานตามการค้าและการลงทุน ลักษณะความต้องการบุคลากรจะมี 2 รูปแบบ คือ การหาบุคลากรในชาตินั้นๆ เช่น การหาคนในกัมพูชาให้ทำงานกับคนกัมพูชาเอง อีกรูปแบบคือการดึงต่างชาติเข้าไปทำงานในประเทศนั้นๆ เช่น การดึงคนไทยเข้าไปทำงานในกัมพูชา ส่วนความต้องการแรงงานในแต่ละประเทศที่ผ่านมาทางแมนพาวเวอร์ พบว่า

           กัมพูชา ต้องการบุคลากรด้านการขาย ไอที วิศวกร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการค้าภายในประเทศ

           เมียนมาร์ ต้องการบุคลากรในภาคการเกษตร ก่อสร้าง วิศวกร สะท้อนถึงกลุ่มอาชีพในสายงานพัฒนาประเทศ

           มาเลเซีย ต้องการบุคลากรด้านไอที บ่งบอกถึงความชัดทางด้านนโยบายที่ต้องการเป็นไอทีเซ็นเตอร์ของกลุ่มเออีซี โดยบุคลากรด้านไอทีที่ต้องการคือจากกัมพูชา และพม่า ซึ่งมองได้ว่าบุคลากรจาก 2 ประเทศนี้มีความสามารถมากกว่าไทย

           ฟิลิปปินส์ มีความชัดเจนที่ว่าไม่เน้นอุตสาหกรรมภายในประเทศ จึงเน้นการผลิตบุคลากรเพื่อการส่งออกทำงานต่างประเทศเท่านั้น

           แมนพาวเวอร์ ระบุด้วยว่า 5 อันดับสายงานที่มีความต้องการสูงในกลุ่มเออีซี คือ 1.งานขายและพัฒนา ซึ่งเน้นที่การดูแลลูกค้ารายใหญ่ โดยตำแหน่งที่ต้องการมากคือ แอคเคาท์ เมเนเจอร์ 2.ไอที พบว่าเกือบทุกประเทศต้องการโปรแกรมเมอร์เหมือนกันหมด 3.งานบัญชีและการเงิน ตำแหน่งที่ต้องการมากคือกลุ่มผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะตำแหน่งไฟแนนเชียล คอนโทรลเลอร์ 4.วิศวกร ในกลุ่มงานก่อสร้าง ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศกลุ่มเออีซี ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันทั้งหมด และเชื่อว่าคนในอาชีพนี้จะไม่มีตกงานอย่างแน่นอน ทั้งยังมีโอกาสในการโกอินเตอร์อีกด้วย และ5.กลุ่มซัพพลายเชน และโลจิสติกส์ ซึ่งต้องการแรงงานระหว่างประเทศ เช่น รีจินัล ซัพพลายเชน แมเนจเมนท์

           “ทั้งหมดนี้มีความต้องการบุคลากรข้ามชาติสูงมาก และจากการวิเคราะห์ฐานลูกค้าของแมนพาวเวอร์เอง พบว่าอาชีพที่มีความต้องการอันดับหนึ่งคือ ไอที, บัญชีและการเงิน, อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ และทรานสปอเทชั่น แอนด์ โลจิสติกส์ ตามลำดับ โดยต้องการตำแหน่งตั้งแต่ผู้บริหารระดับกลางขึ้นไป ด้านคุณสมบัติของตำแหน่งงานที่ต้องการนั้น แน่นอนว่าจะต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี มีประสบการณ์ อายุงานมากกว่า 5-10 ปี ส่วนตำแหน่งงานบริหารจัดการทั่วไปนั้น ต้องการคนที่เคยทำงานข้ามชาติมาก่อน”

           น.ส.สุทธิดา กล่าวด้วยว่า สำหรับแรงงานไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าแรงงานไทยยังได้เปรียบในหลายข้อ คือเป็นแรงงานที่มีมาตรฐานสูง มีความคิดสร้างสรรค์ มีใจบริการ ทำงานด้วยความละเอียดรอบคอบ มีความเข้าใจตลาดเป็นอย่างดี ทั้งด้านการค้า ธุรกิจ ตลอดจนมีความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม

           ส่วนข้อเสียของแรงงานไทยก็มีหลายข้อเช่นกัน คือแรงงานไทยไม่เน้นการเข้าไปทำงานในกลุ่มประเทศเออีซี และมักจะไปตื่นเต้นหรือสนใจกับประเทศใหญ่ๆ อย่างเช่น ญี่ปุุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ทำให้มีประสบการณ์การทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนค่อนข้างน้อย โอกาสในการทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนก็น้อยลง นอกจากนี้ ยังมีข้อเสียในด้านภาษา ซึ่งด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มเดียวกัน

           แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ยังมองว่า โอกาสสำหรับแรงงานในกลุ่มเออีซียังมีมาก โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเปิดโอกาสให้นักลงทุนในอาเซียนเข้าไปลงทุนได้ถึง 70% ทำให้เห็นโอกาสของการท่องเที่ยว โรงแรมและที่พัก ที่จะเข้าไปเปิดตลาด นั่นก็หมายถึงโอกาสที่จะสามารถส่งคนหรือสร้างเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ มีความเป็นไปได้สูง ด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสารของไทยก็มีไม่น้อย

           นอกจากนี้ ยังมีโอกาสจากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐของแต่ละประเทศ อย่างในกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ไทย และสิงคโปร์ ที่ต้องการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ซึ่งไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ทุกประเทศก็ต้องการสนับสนุนในเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน เวียดนาม ต้องการสนับสนุนเรื่องการค้าและการลงทุน ไอที การศึกษา ส่วนลาว มีความชัดเจนมากในเรื่องการบุกเบิกด้านพลังงาน และไทยเอง ให้การสนับสนุนเต็มที่กับบริการด้านการแพทย์

           อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของแรงงานยังมีอยู่มากไม่ว่าจะเป็นมาตรการ ระเบียบและขั้นตอนต่างๆ รวมถึงการขออนุญาตทำงาน ที่ยังมีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลา

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ